ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก4สมาคมร้องนายกฯกำหนดสัดส่วนใช้เหล็กในประเทศกับโครงการภาครัฐ

13 ธันวาคม 2562
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก4สมาคมร้องนายกฯกำหนดสัดส่วนใช้เหล็กในประเทศกับโครงการภาครัฐ

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย 4 สมาคม ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ (Local Content) สำหรับงานโครงการภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3

สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน ร่ามกับสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย สมาคมการค้าเหล็กลวดไทย และ สมาคมผู้ลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เสนอมาตรการสำหรับงานโครงการภาครัฐใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.พิจารณากำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตได้ในประเทศสำหรับงานโครงการภาครัฐ (นับตั้งแต่วัตถุดิบขั้นต้น วัตถุดิบขั้นกลาง และสินค้าสำเร็จรูปหากมีผู้ผลิตในประเทศ) และ 2.พิจารณาใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย สำหรับงานโครงการภาครัฐ

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการสมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน กล่าวว่า มาตรการที่นำเสนอจะกระตุ้นให้เกิดการผลิตและบริโภคเหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินและปัจจัยการผลิตต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการนำเข้า และเกิดการสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต เช่น ธุรกิจขนส่ง งานบริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการลดการขาดดุลทางการค้าจากนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ

"ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะชะงักงันของธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ผลิตในประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาอุปสงค์ที่เกิดจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเป็นหลัก ดังนั้นหากรัฐบาลกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้เหล็กเส้นเสริม คอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศออกมาก็จะช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศเพิ่มการใช้กำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวด มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 13 ล้านตัน แต่มีการบริโภคเพียง 5 ตันเท่านั้น" นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กยังเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ราคาทุ่มตลาดจากต่างประเทศ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากผลพวงของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มีสินค้าเหล็กราคาต่ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ไหลทะลักเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยมากขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กสุทธิรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยในปี 61 มีปริมาณการบริโภคสินค้าเหล็กในประเทศ 19.3 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 12 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียง 38% เท่านั้น และในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก เช่น กรณีสหรัฐอเมริกากำหนดเป้าหมายการใช้อัตรากำลังการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศต้องไม่ต่ำกว่า 80% กรณีประเทศอินเดียได้มีการจัดตั้งกระทรวงเหล็ก (Ministry of Steel) เพื่อดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เป็นต้น

ด้านนายวิษณุ กล่าวภายหลังรับหนังสือจาก 4 สมาคมผู้ผลิตเหล็กว่า จะนำเรื่องนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป พร้อมกับจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงคมนาคม กรมบัญชีกลาง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนมาหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอของ 4 สมาคมผู้ผลิตเหล็ก

อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/iq03/3077021


แหล่งที่มา : RYT9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.