7ส.เหล็กไม่ไหวแล้วโควิดทุบซ้ำยื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่ช่วย5ข้อ

30 เมษายน 2563
7ส.เหล็กไม่ไหวแล้วโควิดทุบซ้ำยื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่ช่วย5ข้อ

7 สมาคมเหล็กร้องนายกผลักดันมาตรการเหล็ก ร่วมฝ่าโควิด ชง5ข้อ ให้อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติอยู่รอดต่อไปได้

นายวิน วิริยประไพกิจ ที่ปรึกษาสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทยและแกนนำกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กร่วมกับผู้บริหารของสมาคมเหล็กอื่นๆเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย  ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานศูนย์อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ทำให้อุปสงค์ของสินค้าเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และภาคการก่อสร้างหดตัวลงทั่วโลก

โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศเริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ความต้องการใช้เหล็กในจีนไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ลดลงถึง 36% หรือคิดเป็นปริมาณ 70 ล้านตัน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 จีนมียอดสินค้าเหล็กคงคลังมากถึง 100 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีปริมาณ 49.3 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลจีนได้เตรียมสนับสนุนการส่งออกเพื่อระบายสินค้าเหล็กจำนวนมหาศาลนี้ออกมานอกประเทศจีน  โดยเพิ่มการคืนภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 10% เป็น 13% ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนลดต่ำลงอีก จากที่ปกติก็มีราคาต่ำทุ่มตลาดอยู่แล้ว และมีความเสี่ยงสูงสุดที่สินค้าเหล็กดังกล่าวจะไหลทะลักมายังประเทศไทยที่เป็นเป้าหมายการส่งออกลำดับต้นๆของจีน (จากสถิติปี 2562 จีนส่งออกสินค้าเหล็กมายังไทยมากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก)

ดังนั้นเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติอยู่รอดต่อไปได้ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณามอบนโยบายกำหนดมาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อคือ
1.พิจารณาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด (Critical Industry & Supply Chain: CISC)

2.พิจารณาเร่งรัดการจัดทำระเบียบปฏิบัติที่ส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผู้ประกอบการสามารถผลิต และจำหน่ายให้กับงานโครงการของรัฐได้ โดยการให้แต้มต่อ 3% ถึง 7% กับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพตาม มอก. และกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตได้ภายในประเทศ (Local Content) 90% เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่การผลิตและการจ้างงาน

3. พิจารณาเร่งรัดการบังคับใช้มาตรการทางการค้าสินค้าเหล็กเพื่อให้สามารถป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศได้อย่างทันท่วงที โดยในส่วนนี้ขอให้เร่งรัด3ด้านคือ เร่งรัดการจัดทำอนุบัญญัติเพื่อบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention: AC) และพิจารณาใช้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมการนำเข้าเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการจัดทำอนุบัญญัติ และยังไม่มีมาตรการ AC   และ เร่งรัดกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สำหรับสินค้าเหล็กที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวน   รวมถึงเร่งรัดการต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (SG)

4. พิจารณาดำเนินมาตรการตรวจติดตามเชิงรุก (Active Surveillance) ตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม

5. นอกจากการใช้เพียงแค่มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เท่านั้น ต้องมีความพร้อม รวดเร็ว และกล้าหาญที่จะใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard), มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty), มาตราการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention), และมาตรการห้ามนำเข้า ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ตามสถานการณ์ความรุนแรงเมื่อมีกรณีที่มีการนำเข้าที่ผิดปกติ
โดยมาตรการที่เสนอเพิ่มเติมทั้ง 5 ข้อนี้กลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นมาตรการที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กสามารถยืนหยัดสู้ฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 โดยยังคงสามารถประกอบกิจการ รวมถึงยังคงรักษาความสามารถในการจ้างงานต่อไปได้

ปัจจุบัน 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย, สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย,สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น , สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ,สมาคมโลหะไทย ที่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย รวมสมาชิกจากกลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 472 บริษัท

อ่านต่อได้ที่ : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/432169?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=industry


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.