โควิดฉุดจีดีพีภาคอุตฯคาดปี63หดตัว6.5%

28 เมษายน 2563
โควิดฉุดจีดีพีภาคอุตฯคาดปี63หดตัว6.5%

กระทรวงอุตฯประเมินโควิด-19 ฉุดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมทั้งปี 2563 หดตัว 5.5-6.5% ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 6-7% ลุ้นเศรษฐกิจไทยกระเตื้องช่วงครึ่งหลัง จากส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นตัวช่วย

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้มีการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อภาพรวมอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดการณ์ว่า ปี 2563 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะหดตัว 5.5 - 6.5% และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) จะหดตัว 6-7% ภายใต้สมมติฐานการส่งออกสินค้าและบริการจะหดตัว 9.0%

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประกอบด้วย 1.การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักของไทย อาทิ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน 2.ภาวะภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการลดลงของผลผลิตข้าวเป็นสำคัญ 3.ระยะเวลาในการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน รวมทั้งรายได้ของภาคครัวเรือนที่ตกต่ำ และ 4.ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสงครามน้ำมันระหว่างกลุ่มประเทศโอเปกและประเทศพันธมิตร

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นบ้างจากปัจจัยดังนี้ 1.การส่งออกสินค้า คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบรรลุข้อตกลงในการเจรจาข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น 2.ประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ไก่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง และน้ำตาล เป็นต้น

และ3.รัฐบาลออกมาตรการการเงินและการคลัง เช่น มาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” แจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน จำนวน 14 ล้านคน เป็นระยะเวลา 6 เดือน และมาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

“จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งด้านบวกและด้านลบที่กล่าวมา หากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทั้งไทยและทั่วโลกสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติตามเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าในระบบ ประกอบกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจมาได้หลายครั้งเป็นอย่างดีนางสาวสุชาดา กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลกเป็นวงกว้าง และแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังส่งกระทบไปถึงการชะงักงันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งการยกเลิกเที่ยวบิน การยกเลิกการจองโรงแรม การยกเลิกกิจกรรมต่าง ๆ ลามไปถึงการชะลอการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่อยู่ภายใต้ระบบห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) อันส่งผลต่อเนื่องไปสู่ผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการที่ประชาชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันการติดเชื้อต่างๆ รวมไปถึงการที่คนจะต้องมีการกักตัวอยู่กับบ้านจนทำให้ขาดรายได้ก่อให้เกิดความเครียดและปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา อีกทั้งในภาคการเงินเองการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมไปถึงการที่อีกหลายประเทศเลือกที่จะทำการปิดประเทศ ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีที่มาจากวิกฤติสุขภาพเป็นสำคัญ

อ่านต่อได้ที่ : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/431438?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=industry


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.