เศรษฐกิจไทยมิ.ย.ยังชะลอตัวแต่บริโภค-ลงทุนเอกชนดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์

30 กรกฎาคม 2563
เศรษฐกิจไทยมิ.ย.ยังชะลอตัวแต่บริโภค-ลงทุนเอกชนดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.63 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น หลังจากมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศที่สะท้อนผ่านการส่งออกสินค้าและบริการยังคงชะลอตัว สอดคล้องกับด้านอุปทานที่ชะลอตัวลงในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ กลับมาขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 41.4 หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ยังคงชะลอตัว แต่มีอัตราการชะลอตัวที่ลดลง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวในอัตราชะลอลง -9.0% และ -26.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี และการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวในอัตราชะลอลงที่ -6.6% ต่อปี ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -2.9% ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ
ส่วนเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอตัว -23.2% ต่อปี จากการลดลงของการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ อาทิ หมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และหมวดเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี การส่งออกในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวที่ 4.6% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ หมวดผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ขยายตัว 8.8% ต่อปี ขณะที่สินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 21.4% และ 4.6% ต่อปี ตามลำดับ จากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า จำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลัก พบว่า ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน 9 ประเทศ ลดลง -21.6%, -22.7% และ -30.3% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังสหรัฐและจีนขยายตัว 14.5% และ 12.0% ต่อปี ตามลำดับ โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รวมถึงหมวดผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป เป็นต้น
ส่วนมูลค่าการนำเข้าชะลอตัว -18.1% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย.63 เกินดุล 1.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัว พบว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -17.7% ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น แต่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนกลับมาดำเนินการธุรกิจได้มากขึ้น
ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัว 2.7% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นผลผลิตในหมวดไม้ผล อาทิ ทุเรียน และมังคุด สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะไก่เนื้อ ตามความต้องการทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน
อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้ง ในขณะที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่มีการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.และ พ.ค.63
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -1.6% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.0% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 44% ต่อ GDP อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 อยู่ในระดับสูงที่ 241.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อ่านต่อได้ที่:https://www.infoquest.co.th/2020/28531

แหล่งที่มา : อินโฟเควสท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.