สนค.แนะกลยุทธ์การส่งออกเน้นตลาดที่มีศักยภาพฟื้นตัวเร็วจากโควิด

31 กรกฎาคม 2563
สนค.แนะกลยุทธ์การส่งออกเน้นตลาดที่มีศักยภาพฟื้นตัวเร็วจากโควิด
             นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกซึ่งองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าในปี 2563 การค้าสินค้าของโลกจะหดตัว13-32% ปัจจุบันสถานการณ์การค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้การฟื้นตัวในปีหน้าก็ยังยากที่จะคาดเดา
            “เศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบและต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ดังนั้น กลยุทธ์การส่งออกควรให้ความสำคัญกับตลาดศักยภาพที่มีแนวโน้มฟื้นตัวก่อน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ เป็นประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อในอัตราที่ต่ำลง จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับดำเนินการได้อีกครั้ง เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้”
             นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้จัดทำดัชนีวัดความเข้มงวดของรัฐบาลแต่ละประเทศในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 หรือ ดัชนี OxCGRT ครอบคลุมมาตรการ 3 ด้าน ได้แก่ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดโรงเรียน และการจำกัดการเดินทาง มาตรการด้านเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนรายได้ให้ประชาชน และการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น ระบบการตรวจหาโควิด-19 และการลงทุนด้านสาธารณสุข โดยดัชนี OxCGRT มีค่าระหว่าง 1-100 ซึ่งจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว รวมทั้งไทย อยู่ในกลุ่มรัฐบาลที่รับมือกับไวรัสโควิด-19 ได้ดี
              ตลาดศักยภาพยังสามารถสะท้อนจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ส่งสัญญาณแนวโน้มฟื้นตัวของประเทศนั้นๆ อาทิ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index หรือ PMI) ซึ่ง PMI เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกถึงภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังเป็นตัวชี้วัดที่ถูกนำไปใช้เพื่อประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย จัดทำโดยสถาบันมาร์กิต (Markit) จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในธุรกิจเอกชนกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งค่า PMI ที่เกินกว่า 50 แสดงถึงภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ขยายตัวอีกทั้งยังสะท้อนมุมมองเชิงบวกของภาคเอกชนที่มีต่อภาคเศรษฐกิจ โดยในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่าประเทศที่มีค่า PMI เกินกว่า 50 ได้แก่ จีน เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลีย
              ในส่วนของธนาคารโลก ก็ได้ออกรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจล่าสุด ในปี 2563 โดยระบุว่าประเทศที่ยังคงสามารถรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับบวกได้ และคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ จีน เวียดนาม เมียนมา ลาว และบางประเทศในแอฟริกา
กลยุทธ์การส่งออกของไทยต้องให้ความสำคัญกับตลาดที่มีศักยภาพในการฟื้นตัวก่อน สรุปเกณฑ์ที่สำคัญในการพิจารณา ได้แก่ (1) การควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี (2) การคาดการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในระดับบวก และ (3) มุมมองที่เป็นบวกของภาคเอกชนในประเทศนั้นๆ โดยประเทศที่ สนค. เห็นว่าเป็นตลาดศักยภาพในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก (จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้) และอาเซียน (มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และสปป.ลาว) ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 การส่งออกไปจีน และฮ่องกง ขยายตัว 5.8% และ 1.4% ตามลำดับ
              ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แม้การส่งออกในภาพรวมจะหดตัวแต่หดตัวในอัตราที่ลดลง และสินค้าบางรายการยังรักษาระดับการเติบโต โดยเฉพาะสินค้าอาหาร และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและสุขอนามัยของสินค้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าในปัจจุบันและช่วงหลังโควิด-19ผู้ส่งออกต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจและการค้าให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal เพื่อหาจุดขายใหม่ๆ ให้แก่สินค้าและบริการ จะทำให้สามารถรักษาฐานตลาดเดิม และชิงส่วนแบ่งจากตลาดใหม่ได้ต่อไป

อ่านต่อได้ที่:https://www.naewna.com/business/508649

แหล่งที่มา : แนวหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.