ความเชื่อมั่นอุตฯขยับขึ้นต่อเนื่อง4เดือนติดหลังปลดล็อกเฟส6เอกชนวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

17 กันยายน 2563
ความเชื่อมั่นอุตฯขยับขึ้นต่อเนื่อง4เดือนติดหลังปลดล็อกเฟส6เอกชนวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม
ความเชื่อมั่นอุตฯ ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หลังปลดล็อกเฟส 6 เอกชนวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ยืดชำระเงินกู้เอสเอ็มอีไปอีก 2 ปี
ความเชื่อมั่นอุตฯดี4เดือนติด - นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.5 ในเดือนก.ค. 2563 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน ร่วมมือกัน ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถดำเนินการตามปกติ
นอกจากนี้ ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลดีต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหาร และสินค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.5 เพิ่มขึ้นจาก 93.0 ในเดือนก.ค. 2563 จากผู้ประกอบการคาดว่าภาคการผลิตจะมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ แม้ดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและมีกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งบางส่วนได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้หมุนเวียนในกิจการ
“สิ่งสำคัญคือยังอยู่ภายใต้ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563”
ดังนั้น รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการให้มากขึ้น ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เช่น ยืดการชำระเงินกู้ไปอีก 2 ปี (ปี 2564-2565) ขอให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรมหรือกิจกรรมอบรมสัมมนาภายในของบริษัทเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,215 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 69.2%, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 54%, อัตราแลกเปลี่ยนในมุมมองผู้ส่งออกอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 45.1% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 25.3% ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ ราคาน้ำมัน 37.2%

อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/36elx1I

แหล่งที่มา : Khaosod online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.