สศช.ห่วงปัจจัย'3สูง3ต่ำ'ฉุดเศรษฐกิจหลังโควิด

22 กันยายน 2563
สศช.ห่วงปัจจัย'3สูง3ต่ำ'ฉุดเศรษฐกิจหลังโควิด
สศช.ห่วงภาวะ 3 สูง “ว่างงาน หนี้สาธารณะ หนี้เอกชน” ชี้ ต้องเร่งฟื้นฟูประเทศ ระบุพึ่งเศรษฐกิจภายในมากขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ประจำปี 2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วานนี้ (21 ก.ย.) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการสรุปครึ่งทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมทั้งนำเสนอแนวคิดแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่จะรับมือผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะใช้ปี 2564-2565
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหลังจากโควิดจะต้องเจอกับภาวะ 3 สูง 3 ต่ำ โดย 3 สูง คือ อัตราการว่างงานสูง หนี้สาธารณะสูง และหนี้ภาคเอกชนสูง 
ส่วน 3 ต่ำ คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในรูปแบบดังกล่าว และต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วนในการรับมือ
ทั้งนี้ ทิศทางหลังจากโควิด-19 จะต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่พึ่งพารายได้จากภายนอกประเทศทั้งส่งออกและการส่งออกท่องเที่ยวมากกว่า 70% ซึ่งการฟื้นตัวยังคงคาดหวังการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 3% ส่วนระดับหนี้สาธารณะช่วงก่อนโควิดไทยอยู่ที่ 40%ต่อจีดีพี ขณะที่ปี 2563 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 47%ต่อจีดีพีและจะเพิ่มเป็น 57% ต่อจีดีพีในปี 2564
สำหรับวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจในส่วนของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จะทยอยอนุมัติโครงการและจัดสรรเงินลงในระบบเศรษฐกิจเป็นระยะ โดยหลังจาก ครม.อนุมัติกรอบวงเงินไปแล้ว 9.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะมีการอนุมัติเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท และในไตรมาสที่ 1–2 ของปี 2564 อีกไตรมาสละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้มีเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นระยะ
ในขณะที่เมื่อเศรษฐกิจเจอผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7.3–7.8% ซึ่งการที่ติดลบมากในปีนี้เป็นในทิศทางเดียวกับแทบทุกประเทศในโลก แต่ไทยต้องพยายามที่จะลุกให้ไวคือฟื้นตัวให้ได้เร็ว 
สำหรับการติดตามประเมินผลหลังจากประกาศใช้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 มาเป็นระยะเวลา 4ปี พบว่าไทยขยับเข้าใกล้การบรรลุผลเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่วางไว้หลายข้อ เช่น การรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ย3% ในช่วงที่ก่อนเจอผลกระทบจากโควิด-19
ส่วนการว่างงานที่ปกติไทยมีอัตราการว่างงาน1% ของจำนวนผู้มีงานทำ หรือ400,000 คน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนแรงงานว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 2% อยู่ระหว่าง 750,000-800,000 คน แต่ยังมีแรงงานที่รับความช่วยเหลือจากประกันสังคมและสวัสดิการแรงงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีว่างงานอยู่1.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอาจจะว่างงานได้

อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/345Jcid

แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.