“เศรษฐกิจโลก”ยังระทมฟื้นตัว“เปราะบาง-กระจุกตัว”

15 ตุลาคม 2563
“เศรษฐกิจโลก”ยังระทมฟื้นตัว“เปราะบาง-กระจุกตัว”

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากที่หลายประเทศสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ และกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ยังคงเต็มไปด้วยความเปราะบางและกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มประเทศเท่านั้น

“ไฟแนนเชียล ไทมส์” รายงานบทวิเคราะห์ที่ทำร่วมกับสถาบันโบรกกิงส์ (Brookings Institution) ระบุว่า แม้ขณะนี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว แต่ยังมีความเปราะบางอย่างมาก เนื่องจากหลายภูมิภาคยังคงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และนักลงทุน ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง

แม้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศจะออกมาตรการจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่โอกาสที่กลับมาสู่จุดเดิมก่อนเกิดโรคระบาดยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน “เอสวอร์ พราซาด” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากสถาบันโบรกกิงส์ระบุว่า “การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในวงกว้างยังไม่ปรากฏ แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบเศรษฐกิจที่รุนแรงและกินเวลายาวนานกำลังเพิ่มสูงขึ้น”

สอดคล้องกับมุมมองของ “คริสตาลินา กอร์เกียวา” กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะ “ยาวนาน ไม่สม่ำเสมอ ไม่แน่นอน และยังมีโอกาสที่จะถดถอยกลับลงไปอีกครั้งได้”

จากดัชนีเศรษฐกิจ “Tracking Indexes for the Global Economic Recovery (TIGER)” ของสถาบันโบรกกิงส์ ที่วิเคราะห์จากตัวชี้วัดกิจกรรมเศรษฐกิจจริง สถานการณ์ตลาดเงิน และความเชื่อมั่นระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกได้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดแล้วในช่วงกลางปี 2020 แต่การฟื้นตัวยังคงแตกต่างกันมาก โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากค่าดัชนีต่ำสุดที่ -8.87 ในเดือน มิ.ย. สู่ระดับ -4.05 ในเดือน ส.ค. ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ฟื้นตัวจากค่าดัชนีต่ำสุด -38.07 ในเดือน มิ.ย. เป็น -32.63 ในเดือน ส.ค.

โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลมาจากภาคการผลิตและการค้าโลกที่กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่งขึ้นเฉพาะในกลุ่มประเทศร่ำรวยที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาการว่างงานและขาดรายได้อย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้

แต่การฟื้นตัวเช่นนี้ไม่ใช่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะยังกังวลต่อความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ทำให้การลงทุนและการจ้างงานไม่สามารถฟื้นตัวได้ และเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดและการรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น “เยอรมนี” ที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันไวรัสและการรักษากิจกรรมเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศอื่นในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี สเปน และฝรั่งเศส

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ด้วยมาตรการยาแรง ต่างจากอินเดียที่ยังคงไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ ทำให้เศรษฐกิจอินเดียยังคงฟื้นตัวอย่างยากลำบาก เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อควบคุมโรคและเยียวยาความเสียหาย ทางเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้

อ่านต่อได้ที่: https://bit.ly/2H7aFIT


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.