RCEP-CPTPP ผลต่อไทย ต้องติดตามท่าทีสหรัฐ

22 พฤศจิกายน 2563
RCEP-CPTPP ผลต่อไทย ต้องติดตามท่าทีสหรัฐ

ทั้งความตกลง RCEP และ CPTPP ที่ไทยพิจารณาเข้าร่วมเจรจามายาวนานเกือบทศวรรษ มีหลายประเด็นอ่อนไหวที่ปรากฏชัดเจนมาโดยตลอด ขณะนี้ถึงจุดที่ไทยต้องแสดงจุดยืนว่าจะเดินหน้าร่วมเจรจาเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง หรือจะทยอยปรับตัวให้ธุรกิจไทยพร้อมก่อน

ในเวลานี้ไทยได้ร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เป็นที่เรียบร้อย เป็นเรื่องน่ายินดีที่ช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ยังมีอยู่ไว้ได้ต่อไปในระยะสั้น แต่ความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะข้างหน้ากำลังถูกสั่นคลอนจากการที่คู่แข่งของไทยก็ร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในความตกลงนี้ และยังเป็นสมาชิกในกรอบการค้าเสรีอื่นๆ อีกที่ไทยไม่มี 

โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP อีกทั้งเป็นที่น่าจับตาว่าหลังจากนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ก็อาจจะนำพาสหรัฐให้กลับมาเจรจาสานต่อความตกลงนี้ที่เคยเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยนายบารัก โอบามา 

นายโจ ไบเดน มีวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะสร้างพันธมิตรกับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปสนับสนุนองค์การการค้าโลก การกลับไปเข้าร่วมความตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องภูมิอากาศโลก รวมทั้งการกระชับความสัมพันธ์กับหลายประเทศผ่านกรอบการค้าเสรีต่างๆ ที่หยุดชะงักไป อาทิ ความตกลงกับอียู หรือ T-TIP และ TPP ที่ตอนนี้คือ CPTPP ซึ่งแผนงานเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายเพื่อขยายฐานอำนาจของสหรัฐในเวทีโลกเพื่อเดินหน้ากดดันจีนในระยะยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองสำคัญของความตกลง CPTPP ที่มีสหรัฐรวมอยู่ (ในที่นี้ขอเรียกว่า CPTPP+สหรัฐ) ดังนี้

ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก : หากสหรัฐจะกลับมาร่วม CPTPP ต้องเดินตามข้อกำหนดที่สมาชิกได้เจรจาไว้และเริ่มบังคับใช้ไปแล้ว ซึ่ง CPTPP ได้ผ่อนปรนบางข้อกำหนดที่เคยมีใน TPP จึงอาจทำให้สหรัฐได้ประโยชน์น้อยลงในการเปิดตลาดสินค้าและบริการของประเทศสมาชิก แต่รวมแล้วสหรัฐก็ยังได้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมาก
 
จึงมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐจะกลับมาเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP อีกครั้ง ซึ่งความตกลง CPTPP+สหรัฐ น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการที่จะไปเริ่มเจรจาเอฟทีเอฉบับใหม่กับประเทศในเอเชีย เนื่องจากเป็นเอฟทีเอที่เริ่มเจรจาไว้ตั้งแต่เป็น TPP และมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่สหรัฐคงต้องยืนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามขั้นตอน

ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนเวลาในการเข้าร่วม : CPTPP+สหรัฐ คงไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้ เนื่องจากต้องรอดูท่าทีของสภาคองเกรสที่ฐานเสียงในสภาล่างของพรรคเดโมแครตไม่ชนะแบบขาดลอย และสภาบนยังคงเป็นของรีพับลิกัน 

ยิ่งท้าทายการบริหารงานของนายโจ ไบเดน ซึ่งไม่เพียงต้องรับมือกับโจทย์เฉพาะหน้าในการแก้ปัญหาโควิด-19 และเร่งเพิ่มการจ้างงานในประเทศให้กลับมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะกินเวลาอย่างน้อยครึ่งแรกของปี 2564 หลังจากนั้นจึงจะเอื้อให้สหรัฐเดินหน้าผลักดันนโยบายอื่นอย่างการเจรจาการค้าเสรีกับนานาชาติ ที่ก็ยังคงเป็นความท้าทาย เพราะเป็นแนวทางที่ต่างกับของพรรครีพับลิกันพอสมควร ดังนั้น คาดว่า CPTPP+สหรัฐ จะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดก็เมื่อโควิด-19 เริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และเป็นช่วงที่ประเทศสมาชิก CPTPP เปิดพิจารณารับสมาชิกใหม่พอดี

ในเวลานี้นับว่าไทยอยู่ในจังหวะที่ดี ได้มีส่วนร่วมในอาร์เซ็ป กรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งคู่แข่งสำคัญของไทยต่างก็ยังไม่มีเอฟทีเอกับสหรัฐ และ CPTPP+สหรัฐ ก็คงยังไม่เกิดขึ้นในระยะ 1 ปีข้างหน้า โดยในระหว่างนี้ไทยจึงควรเร่งผลักดันเอฟทีเอที่เจรจาค้างไว้ให้บังคับใช้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้เป็นตัวช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยที่จำเป็นต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในการยกระดับภาคการผลิต 

ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดให้เกิดเอฟทีเอไทยกับอียู ไทยกับตุรกี ไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EAEU) ไทยกับปากีสถาน หรือแม้แต่การแสดงจุดยืนเรื่อง CPTPP เพื่อให้นักลงทุนสามารถวางแผนธุรกิจได้ต่อไป ท่ามกลางการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกที่มีแกนนำโดยสหรัฐ และเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกที่มีจีนเป็นแกนนำ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศคงไม่มีทางกลับมามีความสัมพันธ์แนบแน่นเหมือนแต่ก่อน ทำให้การกระจายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อรับการแบ่งขั้วดังกล่าวคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ไป 

แม้ว่าไทยจะมีความตกลงขนาดใหญ่อย่างอาร์เซ็ปอยู่ในมือ แต่ไทยยังขาดความน่าสนใจในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในฝั่งของเศรษฐกิจโลกตะวันตก ยิ่งถ้าหากเกิด CPTPP+สหรัฐ ขึ้นมาจะยิ่งทำให้กรอบความตกลงนี้มีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเรื่องเอฟทีเอควรจะถูกหยิบขึ้นมาผลักดันเป็นวาระสำคัญของประเทศ ซึ่งทุกเอฟทีเอมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีที่ปรากฏชัดคือเอฟทีเอเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยให้เหนือคู่แข่งที่ไม่มีเอฟทีเอ หรืออย่างน้อยไทยก็จะไม่เสียเปรียบคู่แข่งที่อยู่ในความตกลงเอฟทีเอเดียวกัน เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตและส่งออก ตลอดจนการจ้างงานในภาคการผลิตและภาคเกษตรกรรมในประเทศให้ได้รับอานิสงส์ไปพร้อมกัน 

ขณะที่ข้อเสียของเอฟทีเอในช่วงที่ผ่านมา ทางการไทยมีกองทุนเอฟทีเอช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน แต่สำหรับเอฟทีเอในระยะต่อจากนี้ที่ต้องเจรจากับประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนมีมาตรฐานการเจรจาสูงและครอบคลุมเรื่องอื่นนอกเหนือจากการค้าและการลงทุน ทำให้รูปแบบผลกระทบกระจายตัวไปสู่หลายภาคส่วน ซึ่งภาครัฐคงต้องทำงานหนักเพื่อให้ธุรกิจไทยเสียประโยชน์น้อยที่สุด

โดยสรุป ทั้งความตกลง RCEP และ CPTPP ที่ไทยก็พิจารณาในการเข้าร่วมเจรจามายาวนานเกือบทศวรรษตั้งแต่ปี 2555 มีหลายประเด็นอ่อนไหวที่ปรากฏชัดเจนมาโดยตลอด ดังนี้แล้ว มาถึงจุดที่ไทยต้องแสดงจุดยืนไม่ว่าจะเดินหน้าร่วมเจรจาเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง หรือจะทยอยปรับตัวให้ธุรกิจไทยพร้อมก่อน ไม่ว่าทางไหนก็ล้วนมีต้นทุนที่ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในแต่ละภาคส่วน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญอย่างแน่นอน 

อาทิ ในประเด็นเรื่อง CPTPP ล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) ได้ศึกษาผลกระทบรอบด้าน พบว่าไทยคงต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมเพื่อบรรเทาผลกระทบ 3 ประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณาในภาคเกษตร ยา-สาธารณสุข และการค้าการลงทุน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าหากไทยจะเข้าร่วมก็มีผลกระทบที่ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการเยียวยาเกษตรกร หรือปรับกระบวนการผลิตในกลุ่มถั่วเหลือง หมู ข้าวโพด ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าสินค้าต่างชาติที่ไทยต้องเปิดตลาดให้ หรือมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตที่แม้จะได้อานิสงส์นำเข้าสินค้าขั้นกลางโดยไม่เสียภาษี แต่ก็ยังต้องแข่งขันสูงกับสินค้าสำเร็จรูปที่ได้ลดภาษีเหมือนกันและมีราคาต่ำกว่า 

ในทางตรงกันข้ามหากไทยไม่เข้าร่วมความตกลงนี้ ทางการไทยก็ต้องเร่งรัดเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ เพราะการเจรจาความตกลงเอฟทีเอไทยกับอียู หรือหากในอนาคตมีการเจรจาเอฟทีเอไทยกับสหรัฐ ไทยก็ต้องมีแผนรับมือกับเรื่องภาคเกษตรกรรม และเรื่องสิทธิบัตรยาที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่กำหนดไว้ใน CPTPP อยู่ดี

อ่านต่อได้ที่ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/908971


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.