ขอโรงงานลดกำลังผลิตแก้PM2.5โวยซ้ำเติมธุรกิจ

19 พฤศจิกายน 2563
ขอโรงงานลดกำลังผลิตแก้PM2.5โวยซ้ำเติมธุรกิจ

กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการ “ขอความร่วมมือ” โรงงานทั่วประเทศลดกำลังการผลิต ช่วงวิกฤตฝุ่นมลพิษ PM 2.5 นาน 4 เดือน สภาอุตฯ เต้น ชี้รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ต้นตอหลักมาจากรถเครื่องยนต์ดีเซล-ป้ายแดง เฉพาะปิกอัพพุ่งถึง 6.8 ล้านคัน โรงงานเหล็กย้ำซ้ำเติมผู้ประกอบการ ขอให้ลดการผลิตช่วงกำลังฟื้นตัวจากโควิด แนะให้คุมปล่องควันโรงงาน กทม.ออกมาตราการคุมเข้มตามค่าฝุ่นพิษ 3 ระดับ ยืนกรานสั่งห้ามรถบรรทุกวิ่ง-หยุดไชต์ก่อสร้าง

ฤดูกาลมลพิษฝุ่นละอองได้หวนกลับมาอีกครั้ง โดยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เริ่มมีสารมลพิษทางอากาศฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 “เกินกว่าค่ามาตรฐาน” (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ส่งผลให้หลายหน่วยงานเริ่ม “ปัดฝุ่น” แผนปฏิบัติการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละลอง ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติกันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแผนระยะสั้น ในขณะที่แผนการแก้ไขปัญหาระยะยาว (2565-2567) แทบจะยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด

รถป้ายแดงวิ่งเกลื่อนถนน

ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM 2.5 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้นเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ก็คือ กิจกรรมการขนส่งทางถนน (road transport) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
3 อันดับแรก ได้แก่ รถปิกอัพ-รถบรรทุก และรถบัสขนาดใหญ่ จากสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ของกรมการขนส่งทางบกพบว่า ในแต่ละปีไม่ได้ลดลงเลย

ล่าสุดเฉพาะ 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 2563) ปรากฏมีรถปิกอัพและรถแวนจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด 191,721 คัน รวมจดทะเบียนทั้งหมด 6,856,963 คัน ส่วนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด 58,019 คัน รวมทั้งหมด 1,187,328 คัน ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ตัวเลขรถจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) เพิ่มขึ้นทุกปี

ในขณะที่รถเก่าก็ยังวิ่งอยู่ไม่ได้หายไปไหน เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายควบคุมอายุการใช้งานรถยนต์และรถบรรทุกนั่นเอง ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ไม่ได้ถูกแก้ที่ต้นตอ แต่กลับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนกับว่าพอหมดฤดูกาลฝุ่น PM 2.5 แล้วก็เลิกกันให้โรงงานลดกำลังผลิต

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือผ่านไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อแจ้ง “ขอความร่วมมือ” จากผู้ประกอบกิจการโรงงานให้ “ลดกำลังผลิต” ของโรงงานลง รวมทั้งขอให้แต่ละโรงงานควบคุมดูแลการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งให้ดูแลระบบบำบัดมลพิษทางอากาศในช่วงเกิดสถานการณ์วิกฤตด้านฝุ่น (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564)

และในกรณีที่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง หรือเครื่อง CEMS (continuous emission monitoring systems) ก็ให้ “ทางโรงงานส่งรายงานผลการตรวจวัดมายังศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมด้วย”

หลังหนังสือขอความร่วมมือให้โรงงานโดยเฉพาะโรงงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง หรือมีการใช้สารอินทรีย์ระเหยสูง ให้ลดกำลังการผลิตในช่วงวิกฤตฝุ่นละอองลงมานั้น ได้สร้างความ “ประหลาดใจ” ให้กับผู้ประกอบการโรงงานมาก จากการสอบถามไปยังหลาย ๆ โรงงานต่างพูดตรงกันว่า โรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่ตัวต้นเหตุหลักในการปล่อยฝุ่นมลพิษ PM 2.5 แต่เป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลักมากกว่า

“เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด อยู่ ๆ มาให้โรงงานลดกำลังการผลิตลงมา ทั้ง ๆ ที่เราก็บอบช้ำจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาก็ต้องทำการผลิตหรือเร่งการผลิต ที่สำคัญ ในปีที่ผ่านมามีการพิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า ฝุ่นส่วนใหญ่ที่โรงงานปล่อยออกมานั้น ไม่ใช่ฝุ่น PM 2.5 แต่เป็น PM 10”

ทำไมไม่แก้ที่ต้นเหตุ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขอความร่วมมือให้โรงงานลดกำลังการผลิตลงมานั้น “คงเป็นเรื่องยาก”

เพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากช่วงโควิด และที่ผ่านมาก็เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ฝุ่น PM 2.5 นั้น “เกิดจากควันรถยนต์ การเผาป่าเผาไร่” ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะไปควบคุมการจราจร หรือคุมการเผาต่าง ๆ ควบคุมการก่อสร้างมากกว่าที่จะมามุ่งเป้าที่ตัวโรงงานอุตสาหกรรม เพราะโรงงานเองก็มีมาตรการควบคุมด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

“หากจะบอกว่าโรงงานคือคนปล่อยฝุ่น PM 2.5 แล้วทำไมวิกฤตฝุ่นถึงจะต้องมาเกิดเอาช่วงนี้ ถ้าโรงงานเป็นสาเหตุจริง ๆ ก็จะต้องเกิดตลอดทั้งปี เพราะโรงงานเดินเครื่องผลิตตลอด ผมจึงอยากให้หน่วยงานของรัฐบาลเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงว่า ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร แล้วไปคุมเข้มสิ่งนั้นมากกว่า” นายสุพันธุ์กล่าว

ด้านนายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศกล่าวว่า มาตรการลดฝุ่น PM 2.5 รัฐบาลควรเน้นไปที่การกำหนดมาตรการระยะยาว ด้วยการให้โรงงานบริหารจัดการเพื่อควบคุมการปล่อยฝุ่นในกระบวนการผลิตที่ปล่อยออกมาจากปล่องควัน มากกว่าการให้ลดกำลังการผลิตของโรงงานลง

ประกอบกับช่วงนี้ทุกโรงงานได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีการว่างงานและวันหยุดมาก การลดกำลังการผลิตลงจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชน

“เอกชนบางรายอาจให้ความร่วมมือได้ แต่บางรายก็ทำได้ยาก เพราะมีออร์เดอร์จากลูกค้าเข้ามาที่ต้องผลิตส่งให้ทัน เมื่อมีวันหยุดแยะก็จะกลายเป็นเราต้องจ่ายค่าแรงเป็นโอที เป็นภาระของผู้ประกอบการไปอีก รัฐควรควบคุมการปล่อยฝุ่นจากปล่องโรงงาน ที่สำคัญ ต้องคุมปริมาณรถบนถนนที่ปล่อยควันออกมามาก ๆ จะเป็นการลดฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ผลดีกว่าการมาขอความร่วมมือให้โรงงานลดกำลังการผลิต” นายประวิทย์กล่าว

กทม.รับมือฝุ่น 3 ระดับ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลว่า กทม.มีมาตรการรับมือสถานการณ์วิกฤต 3 เดือน ช่วงเดือนธันวาคม 2563-กุมภาพันธ์ 2564 ประกอบไปด้วย

1) ค่าฝุ่นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ห้ามรถยนต์บรรทุกวิ่งเข้า กทม. ช่วงเวลา 06.00-21.00 น. โดยรถบรรทุกหกล้อถึงสิบล้อวิ่งได้ถึงถนนวงแหวนรัชดาฯ และรถสิบล้อขึ้นไปให้วิ่งได้เฉพาะถนนกาญจนาภิเษก เริ่มวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะนี้กำลังรอกองบังคับการตำรวจจราจร ออกคำสั่งประกาศบังคับใช้ โดยจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถบรรทุก แค่เปลี่ยนจากวิ่งกลางวันมาเป็นกลางคืนแทน หากตำรวจไม่ออกข้อบังคับภายในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ กทม.ก็จะใช้อำนาจผู้ว่าฯ กทม.ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ออกคำสั่งบังคับได้

นอกจากนี้ กทม.ได้สั่งการไปทุกเขตให้กำกับไซต์ก่อสร้าง เช่น ให้ล้างพื้นที่ ล้อรถบรรทุก ฉีดพ่นละอองน้ำ, บริการตรวจวัดควันดำฟรีในโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ตรวจถี่ขึ้นและเพิ่มจุดตรวจ, ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมที่ กทม.ดูแล 500 กว่าแห่ง, กวดขันการเผาที่โล่ง, งดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียนเฉพาะเด็กเล็ก, ติดเครื่องตรวจวัดฝุ่นใน 20 สวนสาธารณะ, เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 3 แห่ง และเปิดสายด่วน 1584 เพื่อแจ้งเบาะแสรถควันดำ

2) ค่าฝุ่นระดับ 51-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะมีการปิดการเรียนโรงเรียนไม่เกิน 3 วัน/ครั้ง, เข้มงวดการทำผิดการเผา, งดกิจกรรมการก่อสร้างทุกประเภท, ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักสายรอง, ให้รถเก็บขนมูลฝอยให้เสร็จก่อนตี 4, ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่

และ 3) ค่าฝุ่นระดับ 76-100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะสั่งให้หยุดสร้างรถไฟฟ้า 5-7 วัน, ปิดการเรียนไม่เกิน 15 วัน/ครั้ง, ให้บุคลากรของ กทม.เหลื่อมเวลาทำงานและงดใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้มาตรการจับปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง และประสานให้หน่วยงานราชการใช้ระบบขนส่งมวลชน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิดในการเผา การตรวจวัดควันดำ รถโดยสารไม่ประจำทางทุกคัน

นอกจากนี้ กทม.จะดำเนินการกำหนดมาตรการระยะยาว ได้แก่ ปลูกป่าเป็น buffer zone เร่งออกกฎกระทรวงให้รถยนต์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานควันดำวิ่งได้เท่านั้น พัฒนาเทคโนโลยีระบบควบคุมกล้องตรวจวัดควันดำ และรณรงค์ให้ภาคเกษตรปลอดการเผา กำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่เข้าพื้นที่ กทม.ต้องปลอดเขม่าควัน ผลักดันผู้ประกอบการผลิตน้ำมันดีเซลลดก๊าซกำมะถัน

ส่งเสริมสถานีจำหน่ายน้ำมัน Euro 5 อีกทั้ง กทม.มีการปรับการพยากรณ์อากาศให้รู้ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อจะได้นำมาตรการแต่ละระดับมาปฏิบัติต่อไปด้วย
อ่านต่อได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-558223


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.