Circularจะกลายเป็น“เครื่องมือกีดกันทางการค้า”ตัวต่อไป

17 พฤศจิกายน 2563
Circularจะกลายเป็น“เครื่องมือกีดกันทางการค้า”ตัวต่อไป

“สุริยะ” เร่งดันแผน Circular Economy ส่วนหนึ่งในนโยบาย BCG คาดอาจเป็นเครื่องมือใช้กีดกันทางการค้าในอนาคต ด้าน “สมอ.” เร่งทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ “กลต.” ดึงรายใหญ่ใน SET 50 เป็นต้นแบบแจ้งแผนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนดึงรายกลางเข้าร่วมนโยบาย มั่นใจเป็นโปรไฟล์ ESG สร้างความเชื่อมั่นด้านสิ่งแวดล้อม ดึงการลงทุนไม่ยาก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ระหว่าง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ และจะกลายเป็นเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าในอนาคตแน่นอน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่า เป็นต้นเหตุในการทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG โมเดล โดยบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมใน 3 มิติพร้อมกัน ได้แก่ Bio Circular และ Green

นับจากนี้ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการโดยเฉพาะ สมอ. ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่กำกับดูแลและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม นำมาตรฐานไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ไปบ้างแล้ว โดยกำหนดมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ มาตรฐานการนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ใหม่ และมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562

เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ ในการจัดการทรัพยากรในองค์กร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้กำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะ SET 50 เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) เพื่อให้สะท้อนการประกอบธุรกิจ ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม เช่น นโยบาย เป้าหมาย และผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2565

โดยจะเริ่มให้รายใหญ่นำร่อง และเป็นพี่เลี้ยงให้รายกลางดำเนินตาม แนวทางนี้จะส่งผลต่อการลงทุนเช่นกัน เนื่องจากจะเห็นแผนงานจองบริษัทต่างๆ ว่ามุ่งไปด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนอย่างมาก
อ่านต่อได้ที่ :https://www.prachachat.net/economy/news-556946


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.