ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค. 63 อยู่ที่ 50.9 ปรับตัวดีขึ้น แม้กังวลการเมือง

12 พฤศจิกายน 2563
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค. 63 อยู่ที่ 50.9 ปรับตัวดีขึ้น แม้กังวลการเมือง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 2563 อยู่ที่ 50.9 ปรับตัวดีขึ้น แม้ยังกังวลปัญหาการเมือง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2563 พบว่า อยู่ที่ 50.9 จาก 50.2 จากเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก

แต่ด้วยรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายมาตรการ ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น มีผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกมาก

อย่างไรก็ดี หอการค้าไทย คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยไปจนถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงเนื่องจาก 2 ปัจจัยนี้ จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 43.9 จาก 42.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 49.0 จาก 48.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 จาก 59.4

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 63 คาดหดตัวน้อยลงเหลือ -7.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -8.5%, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้ง “เราเที่ยวด้วยกัน” “คนละครึ่ง” และ ”ช้อปดีมีคืน” ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วยความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุม, กังวลโควิด-19 ระบาด, ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, กังวลเรื่องเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า และ สหรัฐตัด GSP สินค้าไทย 231 รายการ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านกำลังซื้อของประชาชน ทั้งในโครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมในเฟส 2 นั้น เชื่อว่าจะเป็นตัวชี้วัดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคใน 2 เดือนสุดท้ายของปี (พฤศจิกายน-ธันวาคม) นี้ จะดีขึ้น คาดเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ให้ขยายตัวได้ที่ 0.7-1% จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบราว 1 แสนล้านบาท

ประกอบกับปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไม่เป็นอุปสรรคในเชิงลบ ปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศทั้งการที่ นายโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงจะมีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ด้วย ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ในทั่วโลก รวมทั้งปัญหาการเมืองในประเทศ มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ติดลบ 7.5 ถึง ติดลบ 7.8% และหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ในเฟส 2 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ได้อีกราว 60,000 ล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้น และการส่งออกควรจะดีขึ้นหลังจาก “โจ ไบเดน” มา

ทั้งนี้ อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีหน้ามีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดย หอการค้าไทย คาดว่าจะเริ่มเห็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 ของปี 2564

อ่านต่อได้ที่: https://www.prachachat.net/economy/news-554748

 


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.