นักเศรษฐศาสตร์ เร่งไทยเดินหน้าแผน ‘ลดคาร์บอน’ ก่อนต่างชาติย้ายฐานการผลิต

22 สิงหาคม 2565
นักเศรษฐศาสตร์ เร่งไทยเดินหน้าแผน ‘ลดคาร์บอน’ ก่อนต่างชาติย้ายฐานการผลิต

          “รัฐ-เอกชน” ผนึกรับมือกติกาใหม่เปลี่ยนโลก “ลดคาร์บอน-ภัยไซเบอร์-สินทรัพย์ดิจิทัล” ผู้ส่งออกเตรียมรับมือมาตรการลดปล่อยก๊าซของอียูตลอดซัพพลายเชน “นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ไทยต้องเดินตามกติกาโลก สร้างกรอบการลงทุนใหม่ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

         โลกกำลังอยู่บนสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านหลายด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อมนุษย์มากขึ้น และเกิดเมกะเทรนด์ คือ การเงินดิจิทัล

         ในขณะที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกกล่าวถึงมามากกว่า 10 ปี ได้กลายเป็นอีกเมกะเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนโลก ซึ่งนำมาสู่การสร้างกติกาใหม่เพื่อดูแลโลก

ชี้ไทยต้องเดินตามกติกาโลก

         นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ไทยต้องเร่งทำ คือ “การสนับสนุนการลงทุน” และ “การปรับโครงสร้าง” เพื่อนำไปสู่กติกาเดียวกับโลก

         โดยเฉพาะการเดินหน้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควรทั้งการเพิ่มโอกาสการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

         ขณะเดียวกันแม้ไทยเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซแต่การผลิตส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเดิม เช่น รถยนต์สันดาป ต้องให้ความสำคัญในการหาสินทรัพย์ทดแทนวัตถุดิบที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างใหญ่การผลิตครั้งใหญ่ เพื่อให้ไทยเป็นไปตามกติกาโลก ไม่ฉะนั้นอุตสาหกรรมของไทย อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

         ส่วนมิติภาคการเกษตรต้องมีส่วนลดปล่อยก๊าซ ดังนั้นเป็นโจทย์ว่าจะดูแลสินค้าเกษตรอย่างไรเพื่อสนับสนุนสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน

         ดังนั้นภาครัฐต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการปลูกเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงการใช้พลังงานชีวมวล

         ทั้งนี้ โลกกำลังเผชิญการขาดก๊าซธรรมชาติ จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลกที่เชื่อมการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก

         ดังนั้น เหล่านี้คือโจทย์สำคัญ เพราะผลกระทบจากยุโรปครั้งนี้ น่าห่วงกว่าโอกาสเกิดวิกฤติในตลาดเกิดใหม่ หากเกิด Energy crisis ปลายปีนี้ จากปัญหาพลังงานอาจกระทบทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

กติกาโลกร้อนขยายวงกว้าง

         นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนกติกาของโลก หันไปตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซคาร์บอนมากขึ้น

         เหล่านี้ถือเป็นมาตรฐานใหม่ของโลก ซึ่งไทยต้องตระหนักมากขึ้นเพราะเป็นประเทศส่งออกสัดส่วน 60-70% ของจีดีพี

         ดังนั้น แม้ขณะนี้ยุโรปหันมาใช้กฎหมายการค้าขายในยุโรปเพื่อลดคาร์บอน แต่สุดท้ายการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะขยายวงสู่ประเทศอื่น ซึ่งไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องตระหนักสิ่งเหล่านี้มากขึ้น

         สิ่งเร่งด่วน คือ มองว่าปัจจุบันเรามีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่ผลิตในไทย และบริษัทแม่กำหนดให้ใช้พลังงานสะอาด โดยถ้าไทยตอบโจทย์ไม่ได้อาจทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจไปลงทุนประเทศอื่น

         ซึ่งทำให้ทั้งคาร์บอนพลังงานสะอาดถือเป็นสเต็ปอัป เพื่อดึงการลงทุนระยะข้างหน้า เพราะต่อไปเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือสิทธิประโยชน์ BOI อาจไม่เพียงพอ

ทั่วโลกกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล

         นอกจากนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ซึ่งทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบเสถียรภาพระบบชำระเงินและเศรษฐกิจ

         นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ติดตามพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Stable coin แม้มีความพยายามรักษามูลค่าให้สอดคล้องกับเงินจริง

         เช่น ดอลลาร์ แต่กลไกการหนุนหลังมูลค่าของ Stable coin บางรูปแบบมีความเสี่ยงและหนุนหลังมูลค่าไม่ได้จริง เช่น UST ที่ก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อตลาด Cryptocurrency และ Platform ที่ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น Celsius, Barbel รวมถึงกรณีบริษัท Zipmex ในไทย

         สำหรับการดำเนินการนี้สอดคล้องธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นความเสี่ยงของ Stable coin และเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อนักลงทุนและผลกระทบต่อระบบการเงิน

         ทั้งนี้ สหรัฐ EU ญี่ปุ่น รวมถึงไทยกำลังทบทวนแนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและกำกับดูแลให้เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.