อีไอซี แนะรัฐออกมาตรการหนุนผู้ผลิตเหล็กไทยสู่ Net zero

23 สิงหาคม 2565
อีไอซี แนะรัฐออกมาตรการหนุนผู้ผลิตเหล็กไทยสู่ Net zero

          อีไอซี ชี้ผู้ผลิตเหล็กไทยขาดความพร้อมการลงทุนเปลี่ยนเทคโนโลยี การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนะภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนทั้งเรื่องภาษี แหล่งเงินทุน และกระตุ้นการใช้เหล็กที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สอดรับกระแส Net zero

          EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกวิเคราะห์ เรื่อง "ความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กไทยในยุค Net zero" ระบุว่า แม้ว่าไทยมีการผลิตเหล็กเพื่อใช้ในประเทศ แต่ความต้องการที่ยังสูงกว่ากำลังการผลิต จึงทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะจากจีน

          จีนเป็นซัพพลายเออร์เหล็กที่สำคัญของไทย ส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็กในจีนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาเหล็กไทย อาทิ การปิดเหมืองแร่เหล็ก และโรงงานผลิตเหล็กในจีน จากมาตรการด้านมาตรฐาน และสิ่งแวดล้อม การล็อกดาวน์ ทำให้ Supply เหล็กลดลง รวมถึงราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนในการผลิตเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปี 2022 ราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

          การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทำให้หลายประเทศตื่นตัวกับการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการลด Carbon intensity ของกระบวนการผลิต และอาจส่งผลต่อการส่งออกเหล็กไทย หากยังไม่มีการลดการปล่อย GHG ประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น จีน EU ญี่ปุ่น พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการผลิต เช่น การปรับเปลี่ยนระบบเตาหลอม การปรับปรุงเทคโนโลยี และเทคนิคการผลิตโดยใช้ไฮโดรเจน และพลังงานสะอาดหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

          นอกจากนี้ มาตรการที่ป้องกันไม่ให้สินค้าที่มีความเข้มข้นของการปล่อย CO2 สูง (Carbon intensity) ที่ผลิตจากประเทศที่ไม่มีข้อกำหนดด้านการปล่อย GHG ที่เข้มงวด เข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ เช่น มาตรการ CBAM ของ EU จะเป็นแรงกดดันให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการผลิตเหล็กทั่วโลก และอาจส่งผลไปถึงสินค้าที่มีส่วนประกอบของเหล็กจากไทยที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ที่เคร่งครัดต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต หากยังไม่มีการปรับปรุงปริมาณการปล่อย GHG จากกระบวนการผลิต

          สำหรับประเทศไทย ซึ่งผลิตเหล็กกลางน้ำ และปลายน้ำนั้น การส่งเสริมให้รีไซเคิลเหล็กเพิ่มขึ้น ควบคู่การเปลี่ยนเตาหลอมเป็น EAF จะเป็นกลไกสำคัญในการลดการปล่อย GHG หากประเทศไทย จะลดการปล่อย GHG ด้วยการลดการผลิตเหล็กในประเทศลง และหันไปพึ่งพาเหล็กนำเข้ามากขึ้น จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งผู้ผลิตเหล็กในประเทศ และอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กปริมาณมาก ดังนั้น การรีไซเคิลเหล็ก

          เป็นทางเลือกที่ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรที่ใช้แล้ว ให้กลับมาเกิดประโยชน์ใหม่ได้ รวมถึงการเปลี่ยน หรือปรับปรุงเทคโนโลยี และเทคนิคการผลิต เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องลงทุน เพื่อปรับตัวลด Carbon intensity โดยเตาหลอม EAF จะช่วยลดอุปสรรคจากการหาเศษเหล็กที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถรีไซเคิลเศษเหล็กที่มีคุณภาพแตกต่างกันในปริมาณมากขึ้น

การกำหนดเกณฑ์ความเข้มข้นของ GHG จากการผลิตเหล็กให้ชัดเจน จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทย รวมถึงภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาครัฐควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการเป็น Green steel จากปริมาณความเข้มข้นของ GHG ที่ปล่อยออกมาจากการผลิตเหล็กให้ชัดเจน เพื่อให้มีมาตรฐานตัวชี้วัดสำหรับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเหล็ก

          อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนค่อนข้างสูง และผู้ผลิตเหล็กไทยบางส่วนยังไม่มีความพร้อมสำหรับการลงทุน ภาครัฐจึงควรออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้ผลิตเหล็กสามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี สนับสนุนทางด้านการเงิน ยกเว้นภาษีนำเข้าหากมีการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร ส่งเสริมกลไกการระดมทุนผ่าน Green bond หรือ Sustainability bond

          รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้เหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กไทยควรใช้โอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ในหลายประเทศต่างก็เริ่มดำเนินมาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เร่งวางแผนการดำเนินธุรกิจ ลดการใช้พลังงาน และ Carbon intensity ในกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้สอดคล้องไปกับกระแส Net zero


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.