สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ค. ขยายตัว 6.37% อานิสงส์เปิดประเทศ ฟื้นท่องเที่ยว

31 สิงหาคม 2565
สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ค. ขยายตัว 6.37% อานิสงส์เปิดประเทศ ฟื้นท่องเที่ยว

          สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 95.71 ขยายตัว 6.37% จากปีก่อนหน้า โดยภาพรวม 7 เดือนแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 99.88 คาด MPI ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ท่ามกลางวิกฤติความมั่นคงทางอาหารโลก

          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าและช่วยหนุนการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและมีการเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

          ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 95.71 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวม MPI ใน 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว ร้อยละ 1.23 และอัตราการใช้กำลัง  การผลิต 7 เดือนแรก อยู่ที่ระดับ 63.42

          ทั้งนี้ คาดว่า MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ขยายตัวท่ามกลางวิกฤติความมั่นคงทางอาหารของโลก

          นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 6.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน  ของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 61.01 จากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ อุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ น้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน

          สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวช่วยฟื้นการบริโภคภายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 6 ล้านคน เป็น 8 ล้านคน

          นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 0.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกัน

          ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม แต่มีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ชะลอตัวลงจากเดือนมิถุนายนขยายตัวที่ร้อยละ 12.9

          "สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง"

          ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงานและวัตถุดิบ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ

          สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

          ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.44 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ  รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ

          น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.66 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

          ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.19 จากผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีต และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก หลังความต้องการใช้สินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น โรงงานสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ ในขณะที่ปีก่อนมีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างและแรงงานผลิต ทำให้การผลิตและการส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินการได้เป็นปกติ

          ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.39 จากผลิตภัณฑ์ integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก

          เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.40 จากการขยายตัวของตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ประกอบกับภูมิอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.