‘อาเซียน-ญี่ปุ่น’ เตรียมแจ้งการมีผลบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ ต่อ WTO ปัดฝุ่นความตกลง AJCEP ขยายการค้าสินค้า-บริการ-การลงทุน

31 สิงหาคม 2565
‘อาเซียน-ญี่ปุ่น’ เตรียมแจ้งการมีผลบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ ต่อ WTO ปัดฝุ่นความตกลง AJCEP ขยายการค้าสินค้า-บริการ-การลงทุน

          ‘อาเซียน-ญี่ปุ่น’ เตรียมแจ้งการมีผลบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ ต่อ WTO ปัดฝุ่นความตกลง AJCEP ขยายการค้าสินค้า-บริการ-การลงทุน

          ‘อาเซียน-ญี่ปุ่น’ เห็นชอบให้แจ้งการมีผลบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP ต่อ WTO พร้อมให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการค้าบริการและการลงทุน หารือประเด็นคงค้าง ทั้งการจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการลงทุนของประเทศภาคี ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และการจัดทำรายการความโปร่งใส เล็งหาแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ AJCEP

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP–JC) ครั้งที่ 20 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังจากว่างเว้นมากว่า 2 ปี โดยที่ประชุมได้หารือถึงการแจ้งการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น (AJCEP) ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) การจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการค้าบริการและการลงทุน การบังคับใช้พิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะราย (PSRs) เป็นระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2017 (HS 2017) และแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ AJCEP

          นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อาเซียนและญี่ปุ่นได้เจรจาพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นการขยายความตกลงฉบับปัจจุบันที่ครอบคลุมเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้าเป็นหลัก รวมไปถึงการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน โดยเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารฯ ทำให้ที่ประชุม AJCEP–JC เห็นชอบให้มีการแจ้งการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ ต่อ WTO ต่อไป และเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการค้าบริการและการลงทุน เพื่อหารือประเด็นคงค้างที่ระบุไว้ภายใต้พิธีสารฉบับที่หนึ่งฯ อาทิ การเจรจาจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการลงทุนของแต่ละประเทศภาคีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และการจัดทำรายการความโปร่งใส ซึ่งเป็นการจัดทำตารางกฎหมายหรือมาตรการในปัจจุบันสาขาบริการที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีของแต่ละประเทศภาคี

          นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตราภาษีและมูลค่าการนำเข้ารายพิกัดสินค้าของแต่ละประเทศภาคี โดยเฉพาะข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง AJCEP โดยอาเซียนและญี่ปุ่นจะหารือในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ ประเทศภาคีส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำไปวิเคราะห์แนวทางการเพิ่มอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง AJCEP มากขึ้น

          ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง AJCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 321.13 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 4.01% ของมูลค่าส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ฯ และไทยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นภายใต้ความตกลง AJCEP มูลค่า 217.13 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 2.15% ของมูลค่านำเข้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ฯ


แหล่งที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.