กนอ.-บีโอไอเร่งดึงญี่ปุ่น ขยายฐานผลิตลงทุน “อีอีซี”

04 กันยายน 2565
กนอ.-บีโอไอเร่งดึงญี่ปุ่น ขยายฐานผลิตลงทุน “อีอีซี”

          ภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานกลายเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุน ทำให้ภูมิภาค “อาเซียน” มีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะไทยที่ได้เปรียบด้วยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของภูมิภาค

          ที่ผ่านมาไทยมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากที่สุดทั้งยังเป็นแกนหลักของห่วงโซ่อุปทานบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากสถิติการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2564 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งรวมทั้งเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดเช่นกัน โดยมีจำนวนขอรับการส่งเสริม 178 โครงการ คิดเป็น 23% ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดและมีมูลค่าการลงทุน 80,733 ล้านบาท

          สำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด ได้แก่ เคมีภัณฑ์และกระดาษ รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การบริการ อุตสาหกรรมเบา/สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

          ในขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีจำนวนยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด 97 โครงการ คิดเป็น 25% ของโครงการต่างชาติทั้งหมด แต่มีมูลค่าการลงทุนเป็นลำดับที่สองรองจากไต้หวัน อยู่ที่16,932 ล้านบาท

          วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กนอ. ได้ร่วมโรดโชว์กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสนใจในประเทศไทยและมีความเชื่อมั่นในการลงทุนอยางต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ ที่ตั้งยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การลงทุนการส่งอออก ความมั่นคงแรงงาน ระบบคมนาคม รวมทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

          สำหรับการโรดโชว์ครั้งนี้ ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Printed Circuit Board (PCB) สำหรับใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเป็นลูกค้าเดิมที่มีบริษัทตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่แล้ว ซึ่งล่าสุดตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มเติม มูลค่า 3,000 ล้านบาท เพื่อย้ายฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดมาตั้งในไทยซึ่งจะเป็นแกนหลักของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน

          “การตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นราว 20-30% จากที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่าจะเป็นเพียงการย้ายเทคโนโลยีมาบางส่วน แต่เนื่องจากบริษัทได้รับดีมานต์คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาก ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีสภาวะซบเซาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงต้องเร่งขยายโรงงาน โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในปี 2566 และเริ่มเดินเครื่องผลิตในอีก 2 ปีข้างหน้า”

          ขณะเดียวกัน บีโอไอยังได้เสนอสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ดึงดูดมากขึ้น อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การให้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินสำหรับผู้บริหารระดับสูง รวมถึงสิทธิสำหรับผู้ติดตามสามารถทำงานในไทยได้ ซึ่งขณะนี้บีโอไอกำลังอยู่ระหว่างการปรับแผนสิทธิประโยชน์ที่จะสร้างแรงจูงใจในการลงทุนมากขึ้น

          นอกจากนี้ กนอ.ยังได้พบปะกับสมาคมผู้ผลิตอาหารและเครื่องจักรที่ใช้ผลิตอาหารของญี่ปุ่น ซึ่งมีความสนใจที่จะไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่เป็นแหล่งรวมการผลิตอาหารอยู่แล้ว เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น

 

 


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.