ttb analytics ชี้ธุรกิจที่ใช้เหล็กสูงมาร์จิ้นลด 2-4% คาดราคาปีนี้ปรับขึ้น 18%

08 มิถุนายน 2564
ttb analytics ชี้ธุรกิจที่ใช้เหล็กสูงมาร์จิ้นลด 2-4% คาดราคาปีนี้ปรับขึ้น 18%
          ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) คาดว่า ในปี 2564 ราคาเหล็กโลกจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เฉลี่ยกว่า 75% โดยประเมินว่าระดับราคาเหล็กในครึ่งปีแรก จะเป็นระดับราคาสูงสุดในปี 2564 นี้ และในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาเหล็กจะมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการที่ทางการจีนใช้มาตรการควบคุมราคาเหล็ก เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคเหล็กในประเทศ ประกอบกับระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หลังปรับลดกำลังการผลิตลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมากว่า 10-20%

          จากการศึกษาความสัมพันธ์การส่งผ่านราคาเหล็กโลก และการลงทุนภาคเอกชนไปยังราคาเหล็กในประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าการเคลื่อนไหวของราคาเหล็กในประเทศ จะแปรผันไปตามภาวะการลงทุนในประเทศ มากกว่าระดับราคาเหล็กในตลาดโลก โดยการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผ่านไปยังราคาเหล็กในประเทศให้เพิ่มขึ้น 0.48% ในขณะที่ระดับราคาเหล็กทั่วโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผ่านไปยังราคาเหล็กในประเทศให้เพิ่มขึ้น 0.13%

          ดังนั้น จากแนวโน้มการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ หลังจากมีการเร่งฉีดวัคซีน เริ่มส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเหล็กทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการที่จีนเข้ามาควบคุมการเก็งกำไรสต็อกในประเทศ และกลุ่มประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่มีแรงจูงใจด้านราคาเพิ่มกำลังผลิตเหล็กมากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ttb analytics คาดว่าจะทำให้ราคาเหล็กในประเทศของไทยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% โดยครึ่งปีแรกปรับเพิ่มขึ้น 25% ในขณะที่ครึ่งปีหลังปรับเพิ่มขึ้น 12%

         โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การฟื้นตัวของการลงทุนในประเทศ และระดับราคาเหล็กในประเทศจีนเนื่องจากไทยพึ่งพิงการนำเข้าเหล็กจีนถึง 35%ของการนำเข้ารวม โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์

          ขณะที่ คาดว่าการบริโภคเหล็กสำเร็จรูปในประเทศในปีนี้จะขยายตัว 5-8% จากปี 2563 ที่หดตัว 11.6% จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การบริโภคเหล็กที่นำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปลดลง แม้ว่าการบริโภคเหล็กในปี 2564 นี้จะมีการฟื้นตัวดีขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันได้รับผลดีจากการส่งออกที่ดีขึ้น แต่ธุรกิจก่อสร้างที่มีการบริโภคเหล็กถึง 63% ของการบริโภคเหล็กรวมทั้งประเทศ พบว่ายังมีการฟื้นตัวช้า โดยปริมาณการขายปูนซีเมนต์ในไตรมาสแรกของปี 2564 ยังหดตัว 5.9% จากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลง และประเมินว่าผลกระทบจะต่อเนื่องในไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

          ทั้งนี้ ช่วงกลางไตรมาส 3 เป็นต้นไป ธุรกิจก่อสร้างจะทยอยฟื้นตัว เนื่องจากจะได้รับผลดีจากการกระจายฉีดวัคซีนมากขึ้น การติดเชื้อใหม่ลดลง ในขณะที่ธุรกิจยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเมินว่าเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดีจากภาคการส่งออกที่ดีขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2564 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในประเทศพัฒนาแล้ว

          ttb analytics ทำการศึกษาผลกระทบราคาเหล็กในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยวิเคราะห์จากโครงสร้างต้นทุนเหล็กต่อต้นทุนรวม และอัตรากำไรขั้นต้นจากงบการเงินเฉลี่ยของธุรกิจ โดยเจาะลึกธุรกิจที่บริโภคเหล็กมาก ได้แก่ ภาคก่อสร้าง (63%) ภาคยานยนต์ (17%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (9%) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (5%) พบว่า ระดับราคาเหล็กในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18%

          ในปี 2564 นี้ ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบต่อมาร์จิ้นสูงสุด ได้แก่ เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน รับเหมาก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมาร์จิ้นของธุรกิจจะลดลง 4.0% , 3.2% , 3.0% และ 2.4% ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ พึ่งพิงวัตถุดิบเหล็กมาก แต่ความสามารถในการปรับราคาขายต้องใช้เวลานาน ทำให้อัตรากำไรลดลงจากภาวะต้นทุนเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น และหากแยกผลกระทบรายครึ่งปี พบว่าช่วงครึ่งปีแรกที่ราคาเหล็กในประเทศเพิ่มสูงเฉลี่ย 25% มาร์จิ้นของธุรกิจลดลง 2.3-5.3% และในช่วงครึ่งปีหลังราคาเหล็กเริ่มผ่อนคลาย ทำให้ราคาเหล็กเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12% ในขณะที่มาร์จิ้นจะลดลง 1.1-2.7%

          ดังนั้น ธุรกิจผู้บริโภคเหล็กปลายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขึ้นของวัตถุดิบทำให้มาร์จิ้นลดลง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะบริหารจัดการวัตถุดิบสต็อกเหล็กในคงคลังให้สั้นลงและขายให้เร็วขึ้น และหากเป็นไปได้ เมื่อมีการซื้อวัตถุดิบเหล็กในราคาสูงและจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าขายเมื่อผลิตเสร็จ ควรทำการเจรจากับผู้ซื้อสินค้าล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ซื้อทราบเงื่อนไขเตรียมรับคำสั่งซื้อในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น


อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/2UfNAdf
แหล่งที่มา : RYT9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.