แรงงานติดเชื้อโควิด ลากโครงการก่อสร้างชะลอตัว

13 มิถุนายน 2564
แรงงานติดเชื้อโควิด ลากโครงการก่อสร้างชะลอตัว

          การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะตั้งแต่การแพร่ระบาดในระลอกที่ 1 ช่วงมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2563 ก็สร้างผลกระทบมาระดับหนึ่งแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาแล้ว พอเจอระลอกที่ 2 ช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปี 2564 และระลอกที่ 3 ตั้งแต่หลังสงกรานต์ปีนี้เป็นต้นมา ยิ่งสร้างความบอบชํ้าให้แบบชัดเจนมากขึ้น หลายธุรกิจถึงกับไปต่อไม่ได้ต้องปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวรไปเลย เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ไม่ได้ 

          รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พยายามมีมาตรการมาช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ แต่ก็ไม่ทั่วถึง แต่หลายธุรกิจนั้นจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป เพราะติดในเรื่องของสัญญาหรือระยะเวลาในการทำงาน เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หรือการก่อสร้างโครงการต่างๆ

          การก่อสร้างในประเทศไทยนั้นชัดเจนมาหลายปีแล้วว่า มีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ทั้งแรงงานที่มาจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนรอบประเทศไทย และประเทศที่ไกลออกไป เช่น บังคลาเทศ ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วนั้นมีผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากว่าแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งที่เดินทางกลับบ้าน หรือเดินทางออกจากประเทศไทยไปในช่วงที่การแพร่ระบาดยังไม่รุนแรงไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ดังที่ตั้งใจ เพราะว่าการปิดด่านผ่านแดนต่างๆ ของประเทศไทย และประเทศต่างๆ โดยรอบ ทำให้นายจ้างของพวกเขามีปัญหาทันที เนื่องจากแรงงานขาดหายไป 

          อีกทั้ง การนำเข้าแรงงานต่างด้าวก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน การก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะโครงการของภาคเอกชนมีปัญหากันพอสมควร แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย และรัฐบาลออกมาตรการผ่อนปรนในเรื่องของการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ตามขั้นตอนและระเบียบที่กำหนดในปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็คลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น การระบาดในระลอกที่ 1 และ 2 จึงไม่มีผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

          การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ครั้งนี้ มีบางส่วนเกิดขึ้นในที่พักคนงานก่อสร้าง และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วภายในที่พักคนงานและพื้นที่โดยรอบ เพราะรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของคนงานก่อสร้างที่เอื้อต่อการแพร่ระระบาด 

          นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์อินเดีย ซึ่งสันนิษฐานกันว่าอาจจะมาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเข้าควบคุมที่พักคนงานและพื้นที่โดยรอบทันที มีการตรวจไวรัสโควิด-19 เชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อกันคนที่มีเชื้อออกจากสังคมทันที เพื่อให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด นอกจากนี้ยังกระจายออกตรวจสอบตามที่พักคนงานต่างๆ  ซึ่งแน่นอนว่าสร้างผลกระทบให้กับการก่อสร้างต่างๆ แน่นอน 

          ในปี 2563 อาจจะไม่เห็นผลกระทบแบบชัดเจนเพราะการก่อสร้างต่างๆ ยังทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น มีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จและขอจดทะเบียนอาคารชุดในประเทศไทยจำนวน 86,633 ยูนิตมากกว่าปี 2562 ประมาณ 22% ตามข้อมูลของกรมที่ดิน โครงการประเภทอื่นๆ ก็ไม่ได้ลดลงมากจนเป็นที่สนใจ แต่ปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ซึ่งประมาณการณ์เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่การก่อสร้างทั่วประเทศจะชะลอตัวลงไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งต้องดูว่าการระบาดในระลอกที่ 3 นี้จะจบลงเมื่อใด เพราะการขาดแคนแรงงาน และการต้องหยุดการก่อสร้าง เนื่องจากคนงานก่อสร้างเดินทางออกนอกที่พักคนงานไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญในเรื่องของการก่อสร้าง 

          ที่พักคนงานไหนที่มีคนติดเชื้อก็จำเป็นมีการควบคุมทันทีอย่างน้อย 14 วัน การก่อสร้างที่อยู่นความรับผิดชอบของพวกเขาก็ต้องหยุดไปด้วย หรืออาจจะเดินหน้าได้ช้าลง เพราะแรงงานไม่พอและยังไม่สามารถหาแรงงานต่างด้าวมาทดแทนได้ อีกทั้งแรงานไทยเองก็มีไม่พอต่อความต้องการอยู่แล้ว การแข่งขันกันในเรื่องของค่าแรงรายวันจึงเกิดขึ้นมีการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อ ดึงดูดแรงงานให้มาทำงานมากขึ้น เพราะนายจ้างยอมเสียค่าแรงเพิ่มขึ้นดีกว่างานเสร็จไม่ทันตามสัญญา 

 

          โครงการต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในตอนนี้จำเป็นต้องชะลอกำหนดแล้วเสร็จออกไปหลายโครงการแน่นอน โครงการที่ยังไม่มีคนงานติดเชื้อโควิด-19 ก็ต้องระมัดระวังกันเต็มที่เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกับงานมากนัก และจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอนในการป้องกันการติดเชื้อรวมไปถึงการเพิ่มขั้นตอนในการตรวจสอบต่างๆ ยังไม่รวมในเรื่องของต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะผลต่อเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในปัจจุบันมีหลายโครงการที่กำลังก่อสร้างแจ้งเปลี่ยนกำหนดการแล้วเสร็จใหม่บ้างแล้ว แต่หลายโครงการยังคงยืนยันกำหนดแล้วเสร็จเดิมเพราะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ 

          แต่สุดท้ายแล้วการเปิดการเจรจากับเจ้าของโครงการต่างๆ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ผู้รับเหมา ผู้ขายวัสดุก่อสร้าง ธนาคารรับรู้ถึงปัญหาในจุดนี้การแก้ไขกำหนดแล้วเสร็จให้ยืดระยะเวลาแล้วเสร็จออกไปโดยไม่เสียค่าปรับรวมไปถึงเรื่องของกำหนดการจ่ายค่าสินค้า หรือสินเชื่อธนาคารที่จำเป็นต้องมีการเจรจาเพื่อขอทำข้อตกลงเรื่องของระยะเวลาใหม่จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ซื้อในกรณีที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีกำหนดแล้วเสร็จชัดเจน และมีค่าปรับในกรณีที่การก่อสร้างล่าช้า เพราะผู้ซื้อเองก็รับรู้ถึงปัญหานี้เช่นกัน เพียงแต่เจ้าของโครงการต้องรีบทำความเข้าใจแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รอจนถึงกำหนดแล้วเสร็จค่อยแจ้งผู้ซื้อ 

อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/35W6NU1


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.