กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานกลางผู้รับผิดชอบในการดำเนินการแก้ต่างการใช้มาตรการ CVD ได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน เพื่อร่วมจัดทำข้อโต้แย้งต่อข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ โดยในผลชั้นต้นปรากฏว่า สัดส่วนการให้การอุดหนุนในสินค้าตะปูเหล็กของไทยอยู่ที่ 0.04 - 0.10% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ระดับที่ต่ำมากจนเข้าข่ายว่าไม่มีการอุดหนุน (De minimis) ส่งผลให้ในชั้นนี้ การนำเข้าตะปูเหล็กจากไทยจึงไม่ต้องวางหลักประกันอากร ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่น่ายินดีของอุตสาหกรรมตะปูเหล็กไทย
ทั้งนี้อีก 4 ประเทศ พบว่ามีอัตรา CVD ดังนี้ โอมาน 2.49% ตุรกี 1.33 - 3.88% อินเดีย 2.73 - 2.93% และศรีลังกา 4.12% ซึ่งจากผลการไต่สวนเบื้องต้นทำให้ทุกประเทศยกเว้นไทย ต้องวางหลักประกันอากร ในอัตราดังกล่าวสำหรับการส่งออกตะปูเหล็กไปยังสหรัฐฯ
นายพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลระหว่างปี 2560 - 2564 พบว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าตะปูที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าตะปูจากไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2564 อยู่ที่ 2,355 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 83.72% ของการส่งออกตะปูทั้งหมดจากไทย ในขณะที่ สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าตะปูเหล็กจากไทยในช่วงเวลาเดียวกัน มูลค่าสูงสุดเป็นลำดับที่ 5 หรือคิดเป็น 6.38% รองจาก จีน โอมาน ไต้หวัน และแคนาดา
สำหรับขั้นตอนต่อไปของการไต่สวนมาตรการ CVD นั้น ภายหลังการประกาศผลชั้นต้นแล้ว สหรัฐฯ จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (Verification) ก่อนประกาศผลการพิจารณาการไต่สวนชั้นที่สุด (Final Determination) ประมาณเดือนกันยายน 2565 ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถรักษาอัตราอากรดังกล่าวได้
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ จะติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางการค้าอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งมั่นที่จะลดอุปสรรคทางการค้า สร้างความเป็นธรรมทางการค้า และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน