‘สินิตย์’ นำทัพถกจีน หนุนความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ดันเปิดตลาดสินค้า ลดอุปสรรคการขนส่ง พร้อมชวนลงทุนใน EEC

30 สิงหาคม 2565
‘สินิตย์’ นำทัพถกจีน หนุนความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ดันเปิดตลาดสินค้า ลดอุปสรรคการขนส่ง พร้อมชวนลงทุนใน EEC

          ‘สินิตย์’ นำทัพถกจีน หนุนความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ดันเปิดตลาดสินค้า ลดอุปสรรคการขนส่ง พร้อมชวนลงทุนใน EEC

         ‘สินิตย์’ เป็นประธานร่วมการประชุมเวทีระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กับจีน หลังว่างเว้นมากว่า 6 ปี หนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ผลักดันเปิดตลาดรังนก โคเนื้อมีชีวิต อินทผาลัม-สละ-เสาวรสสีม่วง การอำนวยความสะดวกด้านขนส่งสินค้าบริเวณด่าน พร้อมชวนนักลงทุนจีนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาลงทุนใน EEC

         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ไทย - จีน หรือ Sub - Committee ไทย - จีน ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนายหลี่ เฟย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เพื่อหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย - จีน หรือ JC เศรษฐกิจ ไทย - จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี 

         นายสินิตย์ กล่าวว่า การประชุม Sub - Committee ไทย - จีน เป็นเวทีระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สองฝ่าย ซึ่งได้ว่างเว้นมากว่า 6 ปี นับจากการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2559 โดยการประชุมครั้งนี้ ไทยได้ ผลักดันประเด็นสำคัญ อาทิ การเปิดตลาดสินค้าของไทยไปจีน ได้แก่ รังนก โคเนื้อมีชีวิต อินทผาลัม สละ และเสาวรสสีม่วง การเร่งสร้างลานตรวจสอบสินค้าผลไม้ที่ด่านรถไฟโม่ฮาน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟลาว - จีน เพื่อช่วยระบายการจราจรแออัดที่ด่านโหยวอี้กวน ซึ่งเป็นด่านหลักในการนำเข้าผลไม้ทางบกจากไทย รวมทั้งขอให้จีนผ่อนปรนมาตรการการส่งออกสินค้าปุ๋ยเคมี เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้าปุ๋ยจากจีนได้เร็วขึ้น โดยฝ่ายจีนพร้อมให้การสนับสนุนและได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันต่อไป 

         นายสินิตย์ เพิ่มเติมว่า ไทยและจีนยังได้หารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในมาตรการความปลอดภัยและด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ด้านอวกาศ ไทยมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการสำรวจดาวอังคารของจีน รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วของจีน ส่วนด้านการลงทุน โดยไทยได้ชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในรูปแบบคลัสเตอร์ 5 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจบีซีจี การแพทย์ครบวงจร โลจิสติกส์ และเมืองอัจฉริยะสำหรับคนรุ่นใหม่ ขณะที่ฝ่ายจีนขอให้ไทยสนับสนุนความร่วมมือในระเบียงการค้าทางบกและทางทะเลแห่งใหม่ของจีน ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนและได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

         นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันพิจารณากำหนดเป้าหมายการค้าใหม่ และจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมระยะ 5 ปี ระหว่างไทย – จีน ปี 2565 - 2569 ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และการท่องเที่ยว โดยจะเสนอให้ที่ประชุม JC เศรษฐกิจ ไทย - จีน พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะนำผลการประชุมในครั้งนี้ไปขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และช่วยเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น 

         ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2564 ไทยกับจีนมีมูลค่าการค้ารวม 103,818 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.- มิ.ย. 2565) การค้ารวมทั้งสองฝ่าย มีมูลค่า 4,454.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.37% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์


แหล่งที่มา : กรมเจรจาการการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.