ส่งออกไทยไปรัสเซียเริ่มดีขึ้น หลังทรุดมาตลอดจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครน

05 กันยายน 2565
ส่งออกไทยไปรัสเซียเริ่มดีขึ้น หลังทรุดมาตลอดจากผลสงครามรัสเซีย-ยูเครน

          ทูตพาณิชย์ไทยในรัสเซีย เผยส่งออกไทยไปรัสเซียเริ่มดีขึ้น ล่าสุด ก.ค. บวก 10.68% จากเดือนมิ.ย.65 แต่ยังลดลงสูงถึง 42.59% เทียบก.ค.64 แนวโน้มชะลอลง หลังสถานการณ์ขนส่งสินค้าดีขึ้น แต่มาตรการคว่ำบาตร ยังส่งผลกระทบรุนแรงอยู่

          นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกไทยไปรัสเซียว่า มูลค่าการส่งออกยังลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค.65 หลังรัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารกับยูเครนเมื่อปลายเดือนก.ย.65 โดยมูลค่าส่งออกของไทยไปรัสเซียเดือนก.ค.65 อยู่ที่ 46.6 ล้านดอลลาร์ แม้เพิ่มขึ้น 10.68% จากเดือนมิ.ย.65 ที่มีมูลค่า 42.1 ล้านดอลลาร์ แต่ยังลดลง 42.59% จากเดือนก.ค.64 ส่วนในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 65 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 338.82 ล้านดอลลาร์ ลดลง 37.01% จากช่วงเดียวกันของปี 64 

          ทั้งนี้ ในเดือนก.ค.65 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทย มีสัดส่วน 78.02% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปรัสเซีย มีอัตราขยายตัวลดลง 33.77% โดย รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยเป็นหมวดที่ครองสัดส่วนมูลค่าสูงที่สุดอันดับ 1 มาโดยตลอด ตกไปอยู่อันดับที่ 7 ของเดือนนี้ และหด 88.84% โดยมีสินค้า รถยนต์นั่งกลับมายังตลาดรัสเซียอีกครั้งเป็นมูลค่า 2.1 ล้านดอลลาร์ และที่เหลือเป็นส่วนประกอบและ อุปกรณ์รถยนต์อีก 0.9 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น

          ส่วนสินค้าจำนวน 7 ใน 10 อันดับแรก มีอัตราการขยายตัวในแดนบวก โดยมีเม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่เติบโตได้ในอัตราสูง 38.29%, 848.91%, 111.82% และ 383.87% ตามลำดับ ขณะที่ ผลิตภัณฑ์ยาง และน้ำมันสำเร็จรูป หดตัวลงที่36.88% และ 11.02% ตามลำดับ

          สำหรับอุปสรรคสำคัญของการส่งออก ในช่วงนี้คือ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ ดังนั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าแต่ละรายการในแต่ละเดือน จะมีความผันผวนสูง อาจมีสาเหตุจากจังหวะและรอบเที่ยวเรือขนส่งที่ผ่านเข้าไปยังรัสเซีย ยังไม่มีความแน่นอน

          นับจากวิกฤตยูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยไปยังรัสเซียในเดือนมี.ค.หดตัวลงอย่างรุนแรงถึง 73% ต่อเนื่องมาในเดือนเม.ย.ที่ติดลบ 77% เดือนพ.ค. ติดลบ 65% เดือนติดลบ 53% และเดือนก.ค. ติดลบ 43% ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราชะลอตัว ประเมินว่า มีสาเหตุมาจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของรัสเซียทุเลาลง เพราะมีสายการเดินเรือใหม่ๆ ในแถบเอเชียเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าเข้า-ออกรัสเซียมากขึ้น ทดแทนสายการเดินเรือหลักของยุโรปที่ถอนตัวออกไป” 

          นอกจากนี้ ยังได้อานิสงส์จากเงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ที่ช่วยให้ต้นทุนสินค้านำเข้าไม่สูงเกินไป อย่างไรก็ตาม สินค้าหลักทุกหมวดล้วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียของประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเข้าถึงเงินสกุลหลัก การขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่อุปทาน และที่สำคัญที่สุดคือระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ถูกจำกัดและขาดความแน่นอน

          อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าไทยกับรัสเซียไม่มากนัก โดยที่ผ่านมาไทยพึ่งพาหมวดสินค้าอุตสาหกรรมหลักที่ไทยส่งออกไปรัสเซียคือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 30% ซึ่งหากรวมเอายาง รถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบเข้าไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้มีสัดส่วนรวมถึง 40% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด แต่มาตรการคว่ำบาตร ได้ส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ค่อนข้างรุนแรงจน ทำให้ มูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปยังรัสเซียในปี 65 จะหดตัวลงในอัตราสูง


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.