สรท. คงเป้าส่งออกทั้งปี 6-8% รอชั่งน้ำหนักปัจจัยเสี่ยง หวังกลุ่มอาหารเป็นเรือธง

06 กันยายน 2565
สรท. คงเป้าส่งออกทั้งปี 6-8% รอชั่งน้ำหนักปัจจัยเสี่ยง หวังกลุ่มอาหารเป็นเรือธง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกรวมปี 65 ทั้งปีที่ 6-8% (ณ เดือนก.ย. 65) เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

          1. สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง International Monetary Fund (IMF) คาดการณ์เงินเฟ้อปี 65 ประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% และประเทศเกิดขึ้นหรือประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 9.5% ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่างทั่วโลกมีสัญญาณชะลอตัว

          2. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

          3. สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง อีกทั้งค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ตู้เปล่าเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

          4. ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

          นอกจากนี้ ปัจจัยในประเทศยังมีเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มด้วย
          “สรท. ยังไม่ปรับเป้าเนื่องจากมีปัจจัยลบเยอะมาก ปัจจัยบวกน้อย เป้าที่ 6% มีอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว มั่นใจทำได้แน่นอน แต่ถ้าการส่งออกอาหารอีก 5 เดือนโตขึ้น 5% จะแตะที่ 8% หรือมูลค่าส่งออกที่ 292,867 ล้านดอลลาร์ได้ เพราะว่าสินค้าอาหารคือสินค้าเรือธงที่โต Double Digit ส่วนความเสี่ยงเรื่องค่าระวางเรือ และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่ก็ต้องจับตาเรื่องการขาดแคลนชิป ซึ่งจะเป็นตัวพลิกผันการส่งออกของไทย” นายชัยชาญ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในเดือน ต.ค. 65 สรท. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ส่งออกระดับโลก เพื่อหารือทิศทางการส่งออกของปีหน้าร่วมกัน เช่น ในเรื่องของค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ขณะนี้จะลดลง 30-40% แต่ก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปถึง 400%

          อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกยังมีปัจจัยบวก คือ ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น นอกจากนี้ ไทยยังได้อานิสงส์ในการส่งออกอาหารจากวิกฤติอาหารโลกด้วย

          นายชัยชาญ กล่าวต่อว่า หากต้องการดันการส่งออกปีนี้ให้ได้ 10% จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดย สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้

          1. ด้านพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือตรึงอัตราค่าไฟฟ้า (ค่า FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนออกไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ผู้ผลิต ภาคครัวเรือน ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านการผลิต และค่าใช้จ่ายประจำวันที่สูงจนเกินไป

          2. ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาอนุญาต ให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สรท. ต้องรับแรงกระแทกจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เรื่องต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นได้ แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนราคาน้ำมันดีเซลนั้นขอให้ตรึงราคาจนถึงสิ้นปี ขณะที่ในประเทศก็จำเป็นต้องค่อยๆ ปรับราคาสินค้าโดยสะท้อนจากต้นทุนที่แท้จริง เพื่อช่วยผู้ประกอบการ” นายชัยชาญ กล่าว

          สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.ค. 65 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาท ขยายตัว 17.0% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนก.ค.ขยายตัว 4.1%)

          ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาท ขยายตัว 38.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนก.ค. 65 ขาดดุลเท่ากับ 3,660.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 139,911 ล้านบาท

          ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.-ก.ค. ของปี 65 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 172,814.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,774,277 ล้านบาท ขยายตัว 22.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงม.ค.-ก.ค. ขยายตัว 8.3%)

          ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 182,730.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,192,216 ล้านบาท ขยายตัว 33% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค.-ก.ค. ของปี 65 ขาดดุลเท่ากับ 9,916.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 417,939 ล้านบาท

          ด้าน นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกในครึ่งปีหลังที่ต้องจับตา ได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวด จึงก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิด Economic Recession มากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวสูง ขณะที่ GDP ในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ด้านเฟดยังคงดำเนินการขึ้นดอกเบี้ย และ Quantitative Tightening (QT) ตามแผนต่อไป จนกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐฯ จะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

          ขณะที่ยุโรป ประสบปัญหาราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น หลังจากดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งตอกย้ำให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปชะลอตัวลงและเริ่มหดตัวจนเห็นได้ชัด ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวในบางกลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกไปยังยุโรป นอกจากนี้ กลุ่มประเทศยุโรปเร่งดำเนินการหาแหล่งผู้ผลิตและส่งออกพลังงานก๊าซธรรมชาติเพื่อทดแทนก่อนที่จะเข้าฤดูหนาวด้วย

          ส่วนประเทศจีน ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ทำให้หลายมณฑลต้องสั่งให้โรงงานหยุดการผลิต ส่งผลกระทบต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทย เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรของจีนยังขาดแคลน ซึ่งอาจเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน ประเทศเพื่อนบ้าน และโลกได้มากขึ้นในช่วงที่โลกประสบปัญหาวิกฤติอาหารในปัจจุบัน นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของจีนยิ่งหดตัวรุนแรงมากขึ้น

          ในส่วนของข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งด้านพลังงานและวัตถุดิบทางการเกษตร ขณะที่ยังมีข้อพิพาทระหว่างจีนและไต้หวัน ที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าชิปเพื่อผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดของไทย ทำให้การส่งออกของไทยอาจไม่ขยายตัวได้ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ จึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

          นายสุภาพ กล่าวว่า ภาคการส่งออกของไทยได้ปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า มองว่าถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 20-21 ก.ย. ที่จะถึงนี้ เงินบาทเดือนก.ย. ก็จะอ่อนค่าเพิ่ม ซึ่งก็ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 13% แต่ประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ค่าเงินก็อ่อนค่าเช่นกัน ดังนั้น มองว่าความสามารถในการแข่งขันกับประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่าจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย

          ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในเดือนส.ค. 65 มีการเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบ แต่ยังคงมีทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ในกรอบ 35.27-36.55 บาท จากปัจจัยสำคัญ คือ การไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศที่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนไปถึงแรงกดดันของธุรกรรมซื้อขายทองเพื่อเก็งกำไรในช่วงที่ผ่าน ทำให้ความต้องการเงินบาทมีการปรับตัวลดลง และทำให้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

          ขณะที่แรงกดดันจากการคาดการณ์ท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเพื่อสะกัดเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการปรับขึ้นจนกว่าอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงจะกลับมาเป็น 0 หรือมากกว่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจได้รับอิทธิพลดังกล่าว และกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอีกครั้ง
“สถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 ก.ย. 65 เงินบาทอยู่ที่ 36.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินบาทในเดือนส.ค. แข็งค่าเนื่องจากเงินทุนไหลเข้าลดลง มีการซื้อทองเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น ประกอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ดังนั้น มองเงินบาทหลังจากนี้ว่ายังคงทรงตัวในระดับอ่อนค่าต่อไป” นายคงฤทธิ์ กล่าว

          ส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวในกรอบ 96-111 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง จากอัตราเงินเฟ้อกลุ่มประเทศหลักพุ่งสูง ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวด ส่งผลต่อเนื่องให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญเริ่มชะลอตัวและเริ่มเคลื่อนไหวในแนวโน้มหดตัวลง เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวเช่นกัน รวมถึงสาเหตุด้านอุปทาน ทั้งปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในคลัง และการส่งสัญญาณปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก รวมทั้งสถานการณ์ราคาพลังงานในยุโรปหลังมีการคว่ำบาตรนำเข้าจากรัสเซีย ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวในระดับสูง และมีความผันผวนเล็กน้อยในกรอบแคบ

          สำหรับสถานการณ์ค่าระวาง จากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) เปรียบเทียบอัตราค่าระวางระหว่างช่วงเดือนส.ค. พบว่า ในภาพรวมสถานการณ์ขนส่งยังคงที่ ค่าระวางปรับลดลงต่อเนื่องตลอดเดือน และในหลายเส้นทาง ด้านปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ยังทรงตัว

 

 


แหล่งที่มา : Infoquest

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.