333 วัน สงครามรัสเซีย – ยูเครนสะเทือนเศรษฐกิจโลก (EP1)

21 มกราคม 2566
333 วัน สงครามรัสเซีย – ยูเครนสะเทือนเศรษฐกิจโลก (EP1)

          333 วัน สงครามรัสเซีย – ยูเครนสะเทือนเศรษฐกิจโลก World Bankคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี66 ขยายตัวเพียง 1.7% ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หากไม่นับวิกฤตการเงินโลกในปี 2552 และปี 2563 วิกฤตโควิด-19 ขณะที่การค้าโลกที่จะขยายตัวเพียง 1.6%

          การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 333 วันแล้ว นับจากวันที่ 24 ก.พ. 65 ที่รัสเซียเริ่มเข้าไปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนด้วยชนวนเหตุจากกรณีพิพาทเรื่องดินแดน จนนำไปสู่การคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาประเทศ ซึ่งผลจากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกมาจนถึงขณะนี้ และยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงพัฒนาการความขัดแย้งที่สำคัญตลอดช่วงระยะเวลา 333 วัน

          นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วง333วัน  ว่า 3 วันก่อนเกิดการสู้รบในยูเครน รัสเซียประกาศรับรองเอกราชของแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซีย หลังจากนั้น การสู้รบ

          ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 65 เมื่อรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาสันติภาพในแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ และเพื่อปกป้องความมั่นคงจากการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกและ NATO ทางด้านชาติตะวันตกหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางการทหารกับรัสเซียด้วยการประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซียให้ยุติการปฏิบัติการ

          โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการสู้รบทั้ง 2 ฝ่ายมีความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพกันหลายครั้ง โดยมีตุรกีเป็นสื่อกลาง แต่การเจรจาก็หยุดชะงักลงตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 65 ซึ่งเป็นช่วงที่รัสเซีย

          การเข้ายึดครองเมืองมาริอูปอลซึ่งเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญในทะเลดำ ทำให้การขนส่งสินค้าของยูเครนออกจากท่าเรือในทะเลดำถูกปิดกั้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฟินแลนด์และสวีเดนประกาศละทิ้งความเป็นกลางทางการทหารด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 65 มีความคืบหน้าด้านบวกที่สำคัญ คือการที่รัสเซียและยูเครนลงนามในข้อตกลง Black Sea Grain Initiative โดยมีตุรกีและองค์การสหประชาชาติเป็นสื่อกลาง เพื่อเปิดทางให้ยูเครนส่งออกธัญพืชและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ผ่านทะเลดํา ขณะที่ในอีก

          ด้านหนึ่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยุโรปในด้านพลังงานก็มีความตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียยุติการจ่ายก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการส่งก๊าซไปยังยุโรป โดยให้เหตุผลว่า ผลจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้รัสเซียยังไม่ได้รับคืนอุปกรณ์สำคัญของท่อส่งก๊าซที่ส่งไปซ่อมบำรุง พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่จัดส่งก๊าซจนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และหลังจากนั้นไม่นานรัสเซียก็เข้าไปโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริเซียของยูเครน จนสร้างความกังวลถึงการเกิดสงครามนิวเคลียร์

          สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งยกระดับความรุนแรงขึ้นอีกขั้นในช่วงเดือน ก.ย. 65 หลังจากรัสเซียสั่งระดมกำลังสำรองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนกว่า 300,000 นาย ไปร่วมการต่อสู้ในยูเครน และเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 65 รัสเซียได้ประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริเชีย ขณะที่ชาติตะวันตกไม่ยอมรับการผนวกดินแดนดังกล่าว และในวันเดียวกันยูเครนก็ตอบโต้ด้วยการยื่นคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขการยุติการสู้รบที่รัสเซียเคยเสนอเมื่อครั้งที่มีการเจรจาสันติภาพ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุระเบิดที่สะพานไครเมียโดยฝ่ายรัสเซียได้กล่าวหาว่า เป็นฝีมือของฝ่ายยูเครน ซึ่งทำให้รัสเซียนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการระงับข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ชั่วคราว แต่ในช่วงเดือน พ.ย. 65 ก็ได้มีการตกลงขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปจนถึงเดือน มี.ค. 66

          ในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน การสู้รบมีแนวโน้มยืดเยื้อและยกระดับรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ หลังรัสเซียยกระดับปฏิบัติการทางทหารด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนจนเสียหายกว่า 50% ทำให้ยูเครนยืนยันว่าจะไม่ยอมเจรจาจนกว่ารัสเซียจะถอนกำลังทหาร และยอมรับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ขณะที่ชาติพันธมิตร NATO ให้คำมั่นว่าจะจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และให้การสนับสนุนทางทหารในการต่อสู้กับรัสเซียจนถึงที่สุด ฝ่ายรัสเซียก็มีการลงนามความร่วมมือทางการทหารครั้งใหญ่กับเบลารุสเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 66 สะท้อนว่าสถานการณ์ความขัดแย้งน่าจะยังไม่สิ้นสุดในเร็ววันนี้

          ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2565 เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง หรือพึ่งพาการส่งออกมาก อย่างเช่นไทยที่การส่งออกสินค้าหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 65 เช่นเดียวกับประเทศ อื่น ๆ ในภูมิภาคที่การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวลง

          และตราบใดที่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังยังคงดำเนินต่อไป ก็จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวให้อ่อนแอลงไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในฐานะประเทศที่พึ่งพาภาคต่างประเทศในระดับสูง

          “ธนาคารโลก(World Bank)ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 2.9% ซึ่งชะลอลงอย่างมากจากที่ขยายตัว 5.9% ในปี 2564 และต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีก่อนเกิดวิกฤตในยูเครนที่ 4.1% และนับจากนี้เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ”

แหล่งที่มา: ฐานเศรษฐกิจ


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.