ส.อ.ท. ขอค่าไฟงวดใหม่ไม่เกิน 5 บาท จี้ “พลังงาน” โชว์กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทย

22 มกราคม 2566
ส.อ.ท. ขอค่าไฟงวดใหม่ไม่เกิน 5 บาท จี้ “พลังงาน” โชว์กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทย

          ส.อ.ท. ขอค่าไฟงวดใหม่ไม่เกิน 5 บาทต่อหน่วย จี้ “พลังงาน” โชว์กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทย โวย รัฐบาบ เมินข้อเสนอ กกร. โซลาร์ช่วยประชาชน

          นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างค่าไฟของประเทศ โดยขณะนี้ยังไม่มีการลงนามตั้งกรอ.พลังงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเสนอชื่อตัวแทนของภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะส่งรายชื่อทั้ง 2 ฝ่ายครบภายในสัปดาห์นี้

          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดสงขลา (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ส่งตัวแทนองค์กรละ 2 คน คาดจะมีการลงนามได้ภายในเดือนมกราคม 2566 ส่วนประธานคณะกรรมการกรอ.พลังงาน คาดว่านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นประธานเอง

          ทั้งนี้ เมื่อตั้งคณะทำงานเสร็จแล้วจะมีการประชุมเมื่อไรนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าจะเร็วแน่นอน เพราะประเด็นเรื่องของค่าไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องที่คนไทยมีความกังวล และในเดือนมีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ คือเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ดังนั้น กรอ.พลังงาน ก็ควรจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ให้แล้วเสร็จเพื่อใช้พิจารณาค่าไฟงวด 2 ของปีนี้

          “คาดหวังว่า กรอ.พลังงาน จะพิจารณาต้นทุนค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่เหมาะสม และเป็นธรรมทุกภาคส่วน ไม่ผลักภาระให้ภาคเอกชนเหมือนงวดที่ผ่านมาและไม่ควรเกินหน่วยละ 5 บาท เพราะเวลานี้ราคาพลังงานโลกเริ่มลดลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และคาดว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้น ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ระหว่างเชิญตัวแทนกกร.เข้าหารือช่วงปลายปีที่ผ่านมา"

          สำหรับประเด็นกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยนั้น อยากให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ บริษัท ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) แสดงข้อมูลยืนยันการจัดหาที่ชัดเจน เพราะส่วนตัวยังคงกังวลว่า หากเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว การจัดหาก๊าซในประเทศที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศไว้

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการ ส.อ.ท. ได้ต่อสู้เพื่อปรับต้นทุนค่าไฟฟ้าของเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการภายใต้ข้อมูล เหตุผล จนทำให้รัฐบาลยอมถอย รื้อต้นทุนใหม่ จนสามารถลดค่าไฟกลุ่มผู้ใช้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ครัวเรือน หรือ ค่าไฟเอกชนที่อุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้สัดส่วนมากที่สุดจาก 5.69 บาทต่อหน่วย เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ นายสุพัฒนพงษ์ ได้เชิญตัวแทนกกร.เข้าหารือโดยคาดการณ์ว่า ราคาพลังงานโลกจะเริ่มลดลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และคาดว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นนั้น ได้มีข้อสรุป 3 ข้อหลัก คือ
1. ขอให้สมาคมธนาคารยืดขยายระยะเวลาการส่งคืนเงินต้นสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนออกไปอีก 1 ปี อัตราดอกเบี้ยในราคาถูกเพื่อลดค่าเอพี หรือ ค่าความพร้อมจ่าย จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤติพลังงานสูง

  1. ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 100% (มีมากกว่า1,000ราย) ให้ลดการใช้ลงเหลือ 80% โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซล20% ที่มีราคาถูกกว่า หรือใช้พลังงานทดแทนอื่นที่เหมาะสม 3. ตั้ง กรอ.ด้านพลังงาน แต่ในส่วนของส.อ.ท.มองว่า ทั้ง 3 ข้อยังไม่ตอบโจทย์ตาม 5 เสนอของกกร.

          “ทั้ง 3 ข้อของรัฐบาล พบว่า ข้อ 2 มีปัญหามากที่สุด เพราะการติดตั้งระบบเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างอื่นเป็นการชั่วคราว อาทิ น้ำมันเตา ดีเซล แอลพีจี ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน ขณะที่ภาครัฐควรมีแพคเกจซอฟต์โลน หรือ อินเซนทีฟ เรื่องการหักภาษี เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนทั้งระบบเดินท่อและถังเก็บ และบางโรงงานไม่มีพื้นที่บัฟเฟอร์โซนรองรับอาจไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานอย่างอื่นได้เนื่องจากปัญหามลพิษและข้อกำหนดทางกฎหมาย” นายอิศเรศ กล่าว

          สำหรับ 5 ข้อเสนอของกกร. ประกอบด้วย 1.ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน 2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

          3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน อาทิ การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak (ช่วงไฟฟ้ามีราคาถูก) มากขึ้น

          4.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้า และ 5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)

          “จาก 5 ข้อของเอกชนนำไปสู่ 3 ข้อจากภาครัฐ แต่เอกชนพบว่า รัฐบาลยังไม่ตอบรับข้อเสนอเอกชน ข้อ 1 คือ การหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน ไม่ใช่โยนภาระเอกชน และข้อ 4 ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น 2 เรื่องนี้กลับไม่มีการพูดถึงเลย ดังนั้นในการประชุมกรอ.พลังงาน ส.อ.ท.จะยังคงผลักดัน 5 ข้อเสนอ โดยเฉพาะข้อ 1 และ ข้อ 4 เพราะเป็นเรื่องจำเป็น เป็นประโยชน์กับคนไทย และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน” นายอิศเรศ กล่าว

แหล่งที่มา: กรุงเทพธุรกิจ


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.