ความท้าทาย 5 ประการเมื่อ"โลกเปลี่ยนขั้ว" กับ 3 แนวทางรับมือของไทย

23 มกราคม 2566
ความท้าทาย 5 ประการเมื่อ"โลกเปลี่ยนขั้ว" กับ 3 แนวทางรับมือของไทย

          เมื่อโลกแบ่งขั้วภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ธุรกิจพลิกเกม ผู้ประกอบการไทยควรต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบหรือสร้างประโยชน์จากทุกๆความท้าทายที่เกิดขึ้น

          นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความท้าทาย ที่เกิดขึ้นหลัง โลกเปลี่ยนขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "โลกแบ่งขั้วกับธุรกิจไทยปี 2566" บนเวทีงานสัมมนา"Gepolitics : The Big Challenge for Business" จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันนี้ (23 ม.ค.)โดยเปิดประเด็นว่า การทำธุรกิจในยุคสมัยนี้มีทั้งความเสี่ยงและความท้าทายที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

โลกมีความท้าทายที่สำคัญ 5 ประเด็นใหญ่ อะไรบ้าง

  1. ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลงในเร็ววัน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อ และวิกฤตอาหารขาดแคลน ล่าสุดเร็วๆนี้ สถานการณ์เพิ่มความคุกรุ่นมากขึ้นเมื่อรัสเซียขู่อาจนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้หากโลกตะวันตกให้ความสนับสนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมแก่ยูเครน
  2. การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ทำให้เกิดความเสี่ยง แล้วไทยจะเพิ่มโอกาสด้านการค้าการลงทุน และจะรักษาสมดุลและความเป็นกลางอย่างไร
  3. การฟื้นฟูจากโควิดที่เห็นหนทางบ้างแล้ว แต่คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เชื่อว่าการฟื้นตัวคงไม่เป็นรูปตัววี (V) แต่งคงเป็นรูปตัวยู (U)มากกว่า เพราะเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ๆยังเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้หนทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด น่าจะมีหนามกุหลาบมากกว่ากลีบกุหลาบ อีกทั้งโลกยังมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย
  4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะอยู่กับเราไปยาวนาน หากไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง แต่จะเห็นได้ว่า มีสัญญาณที่ดีที่เรื่องนี้ได้กลายมาเป็นดีเอ็นเอ (DNA) ของการทำธุรกิจในโลกทุกวันนี้ รวมทั้งในไทย เพราะหากตกขบวนเรื่องนี้ ก็จะทำให้การทำธุรกิจประสบความยากลำบากมากขึ้น เพราะต้องเจอกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของนานาชาติ อาทิ

          การจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าก่อนเดินทางข้ามพรมแดน (carbon borders adjustment) หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังส่งผลต่อการค้าน้ำมันปาล์มของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น

  1. ดิจิทัลดิสรัปชันหรือทรานส์ฟอร์เมชัน การเปลี่ยนผ่านนี้ เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างมากนับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดในรอบแรก เราซื้อสินค้าทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และมีการนำบิ๊กดาต้า (Big Data)มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น ประเทศไหนตามไม่ทันก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดและจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

          มาถึงจุดนี้แล้ว ประเทศไทยและผู้ประกอบการจะปรับตัวรับมืออย่างไร

          นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าแนวทางปรับตัวมีดังนี้ คือ

 

  1. ต้องมุ่งสร้างความสมดุลกับประเทศมหาอำนาจและชาติพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นขั้วใดก็ตาม เพื่อรักษาดุลยภาพและสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและชาวไทย ด้วยการทูตเชิงรุก และการเข้าร่วมกับกรอบความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอเปค อาร์เซป ตลอดจนความร่วมมือในกรอบยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิค

          จะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา (2565) มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่การเมืองระดับสูงระหว่างกัน ในการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ก็มีผู้นำหลายเขตเศรษฐกิจมาเยือนประเทศไทย และกับอียู ก็เพิ่งมีการลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement) หรือ PCA กัน หลังเจรจามายาวนาน 18 ปี และคาดว่าจะนำไปสู่การทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ในอนาคตกับอียู ที่หมายถึงตลาดใหญ่ 27ประเทศ ประชากร 447 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจรวม (จีดีพี)17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ปีที่แล้วไทยยังได้รื้อฟืนความสัมพันธ์และความร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียมาสู่ระดับปกติ พร้อมยกระดับเพื่อการก้าวไปข้างหน้า ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสู่ระดับ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นได้ว่าไทยให้ความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นกับตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

          2.สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก และเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลก ทำให้ชาวต่างชาติมีความมั่นใจที่เข้ามาลงทุน เช่นในช่วงโควิดแพร่ระบาดที่ผ่านมา ไทยทำได้ดีทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาในไทย

          ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา (2565)จำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้นถึง 41% เป็น 2,119 โครงการ ซึ่งสูงสุดในรอบ3ปีที่โควิดอุบัติขึ้นในไทย นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนผุดขึ้นในอีอีซี เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 637โครงการ นอกจากนี้ ไทยยังมีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI)เพิ่มขึ้น 36% คิดเป็นมูลค่ารวม 433,971 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถขยายตัวต่อไป

          นอกจากนี้ ยังต้องมีส่วนร่วมหรือสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนวาระโลกในด้านต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่น

          การเพิ่มความสามารถในการรับมือกับภัยภิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (climate change)

          การตั้งเป้าหมายสังคมคาร์บอนเป็นศูนย์

          การเดินหน้าขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวให้เป็นรูปธรรมสืบเนื่องจาก "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG"

          การส่งเสริม "การทูตวิทยาศาสตร์" ของกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ฯลฯ

          3.ช่วยกันประชาสัมพันธ์ประเทศไทย และสร้างความนิยมไทยผ่านสื่อต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นกต.มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดงาน "ไทยเฟสติวัล" ในประเทศต่างๆเป็นประจำทุกปี ซึ่งได้ผลลัพธ์สะท้อนกลับมาทั้งในรูปการเข้ามาของนักท่องเที่ยว และการซื้อสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น

          ปีที่แล้วไทยประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค และการนำเสนอแนวความคิดเศรษฐกิจบีซีจี ที่สหรัฐซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปีนี้ (2566)ก็ขานรับจะเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างแข็งขันและจะขยายผลต่อ เป็นต้น

ส่วนปีนี้ กต.ร่วมกับ 

          กต.ได้จับมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ในการเสนอให้ "ภูเก็ต" เป็นเจ้าภาพจัดงาน จัดงานเอ็กซ์โป 2028 ภูเก็ต ประเทศไทย (Expo 2028 Phuket Thailand) เพื่อผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเดือนมิ.ย.นี้ จะมีการประกาศผลที่ปารีส หากภูเก็ตได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

          "ภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อม ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้บิ๊กดาต้า และใช้เอไอให้เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบในทุกมิติด้วย"

          แน่นอนว่าในการเผชิญกับความท้าทาย ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.