FTAไทย-อียู จะไม่ใช่แค่ความฝัน "จุรินทร์" เร่งเดินหน้าเจรจา

23 มกราคม 2566
FTAไทย-อียู จะไม่ใช่แค่ความฝัน "จุรินทร์" เร่งเดินหน้าเจรจา

          FTAไทย-อียู จะไม่ใช่แค่ความฝัน"จุรินทร์"เล็งพบบิ๊กอียู25-25ม.ค.นี้   ตั้งเป้าทำ FTA ไทย-อียู ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หวังสร้างอนาคตให้ประเทศ

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 25-26มกราคมนี้ มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อเร่งการเจรจา FTA ไทย-อียู  ซึ่งเรื่อง FTA ไทยกับอียู เป็นเรื่องที่ไทยคาดหวังกันมายาวนานแต่ยังไม่บรรลุผล เพราะติดขัดเรื่องการเจรจาช่วงตั้งแต่ปี 2557 แต่ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการ ในการจัดทำ FTA ไทย-อียู อาจเกิดขึ้นได้

          โดยการเดินทางไปเยือนบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมครั้งนี้มีกำหนดการจะมีการพบกับนายวัลดิส ดอมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป  หรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าของรัฐบาลสหภาพยุโรป

          เพื่อการแสดงเจตจำนงทางการเมืองทั้งสองฝ่ายว่าประเทศไทยรวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ของไทย มีความพร้อมที่จะทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ถ้าสหภาพยุโรปเห็นพ้องต้องกันแต่ละประเทศจะได้กลับมาดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการของแต่ละประเทศต่อไป

          “จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการประชุมและการเจรจาที่เดินทางไป ซึ่งตั้งความหวังว่าจะสำเร็จจะได้เริ่มนับหนึ่ง FTA ไทย-อียู เป็น FTA ที่ภาคเอกชนมีความประสงค์และต้องการมานานแต่ยังไม่บรรลุผล ถ้าประสบความสำเร็จจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

          โดยเฉพาะโอกาสทางการค้าจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะมีตัวเลขที่ดีขึ้น เป้าหมายภาษีระหว่างกันเป็นศูนย์ ทำให้ได้แต้มต่อประเทศคู่แข่งที่ไม่มี FTA กับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ  โดยจะพยายามทำให้ดีที่สุด ให้มีโอกาสสำเร็จ จะเป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศด้วยต่อไป”

          ในปี 2565 อียูเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 5 รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 41,038.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.46 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.95 ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 22,794.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8.10 แสนล้านบาท)

          สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้า และนำเข้าจากอียู มูลค่า 18,243.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.48 แสนล้านบาท) สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.