เศรษฐกิจโลกชะลอ ฉุดดัชนี MPI ธ.ค.65 หดตัว 8.19%YoY ทั้งปีโตเพียง 0.62%

31 มกราคม 2566
เศรษฐกิจโลกชะลอ ฉุดดัชนี MPI ธ.ค.65 หดตัว 8.19%YoY ทั้งปีโตเพียง 0.62%
          สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 65 อยู่ที่ 93.89 หดตัว 8.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่อง และหดตัวมากที่สุดในรอบ 28 เดือน (เดือนส.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 91.21) แต่ในช่วง 12 เดือนของปี 65 (ม.ค.-ธ.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.62%

          ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนธ.ค. อยู่ที่ 59.67% ลดลงจาก 61.09% ในเดือน พ.ย. 65 ขณะที่ในช่วง 12 เดือนแรกของปี 65 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 62.61%

          นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ MPI เดือน ธ.ค. หดตัว คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญของไทย ส่งผลต่อกำลังซื้อจากต่างประเทศหรือการส่งออกของไทย

          อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ น้ำมันปาล์ม จากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน, ยานยนต์ จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ตลาดส่งออกขยายตัว และน้ำมันปิโตรเลียมที่กลับมาผลิตได้อีกครั้ง

          *ดัชนี MPI ปี 65

          ภาพรวมทั้งปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.32 ขยายตัวเฉลี่ย 0.62% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนพ.ย. 65 ที่ 1.9% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวเร็วกว่าคาด ส่งผลให้การผลิตในบางอุตสาหกรรมชะลอตัวตามการสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เม็ดพลาสติก และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในช่วงไตรมาส 4/65 และการผลิต Hard Disk Drive (HDD) ในปี 65 ลดลงเฉลี่ย 30%

          "จากที่เคยคาดว่า ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะมาชัดเจนช่วงม.ค. 66 แต่กลับเริ่มเห็นผลกระทบจากการชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค. 65 ดังนั้น ในเดือนม.ค. 66 คาดว่า MPI ก็จะหดตัวต่อเนื่อง" นางวรวรรณ กล่าว

          *แนวโน้มดัชนี MPI ปี 66

          สำหรับ MPI เดือนม.ค. 66 คาดว่าจะหดตัว เนื่องจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกจากการที่ตลาดส่งออกสำคัญและคู่ค้าหลัก ทั้งยุโรป สหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลต่อการส่งออกไทย ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องฐานเปรียบเทียบในปีก่อนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับมา หลังการระบาดของโควิดมีทิศทางคลี่คลาย

          อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หลังได้รับแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช้อปดีมีคืน หนุนการบริโภคในประเทศจากความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

          นางวรวรรณ กล่าวว่า ในเดือนก.พ. อาจจะมีการปรับประมาณการ MPI ปี 66 อย่างไรก็ดี ต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยขณะนี้ขอคงตัวเลขไว้เท่าเดิมที่ 2.5-3.5% เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกจากเรื่องการท่องเที่ยว และปัจจัยลบจากเศรษฐกิจถดถอย

          ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรเฝ้าระวังในปี 66 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย, เงินเฟ้อชะลอตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

          สศอ. คาดการณ์อุตสาหกรรมในปี 66 ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกระแสโลก และตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ เครื่องปรับอากาศเทคโนโลยีสูง เม็ดพลาสติกชีวภาพ เภสัชภัณฑ์ สิ่งทอเทคนิค และยางล้อรถประหยัดพลังงาน

"คาดว่าดัชนี MPI ของทั้งปี 66 จะดีกว่าทั้งปี 65 แน่นอน แม้จะมีปัจจัยลบหลายอย่าง แต่ก็มีปัจจัยบวกโดยเฉพาะปัจจัยในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และยานยนต์ เนื่องจากคาดว่าจะมีมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น" นางวรวรรณ กล่าว

          นอกจากนี้ สศอ. ประเมินว่า จากนโยบายจีนเปิดประเทศ จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทย มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่แท้จริงภาคอุตสาหกรรม (Real GDP of Manufacturing) เพิ่มขึ้น 0.30%

          นางวรวรรณ กล่าวว่า ในช่วงเลือกตั้งปี 66 ประมาณเดือนพ.ค. 66 จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความคึกคัก ทั้งจากการหาเสียง และการลงพื้นที่ โดยคาดว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะได้รับอานิสงส์เชิงบวก เช่น อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา สินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นต้น

แหล่งที่มา : RYT9


แหล่งที่มา : RYT9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.