ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าเม.ย.ขยับเล็กน้อย ผู้ประกอบการกังวลนโยบายค่าแรง 400

15 พฤษภาคม 2567
ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าเม.ย.ขยับเล็กน้อย ผู้ประกอบการกังวลนโยบายค่าแรง 400

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนเม.ย. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 เม.ย. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.2 ในเดือนมี.ค. 67

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.8

ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.0

ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 57.7

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.8

ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.3

ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.4

ปัจจัยบวก ได้แก่

  1. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศ และกิจกรรมเชิญชวนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
  2. ภาคท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
  3. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
  4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
  5. ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
  6. ภาคอุตสาหกรรมเริ่มที่จะฟื้นตัว เนื่องจากมีความต้องการของสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ยางพาราในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป และผลิตภัณฑ์ไม้

ปัจจัยลบ ได้แก่

  1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี และเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน
  1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4%
  2. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่สูดหายใจเข้าไป
  3. การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 67 หดตัว 10.9% มูลค่าอยู่ที่ 24,960.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.63% มีมูลค่าอยู่ที่ 26,123.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,163.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  4. SET Index เดือน เม.ย. 67 ปรับตัวลดลง 9.99 จุด จาก 1,377.94 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 67 เป็น 1,367.95 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67
  5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 35.954 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 67 เป็น 36.789 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
  6. ความกังวลจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร ซึ่งสภาวะเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้าฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร
  7. ความกังวลในเรื่องของต้นทุนทางการผลิต-การเกษตรของผู้ประกอบการที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
  8. ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
  9. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 และ 1.2 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 39.28 และ 40.35 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการน้ำให้มีใช้เพียงพอกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน

หาแนวทางการแก้ไขหรือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นค่าขึ้นตามประกาศรัฐบาล

มาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีการจับจ่ายซื้อของเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่

การดูแล และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ พบว่ายังมีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงควรขึ้นตามศักยภาพของแต่ละจังหวัด และแต่ละธุรกิจมากกว่า โดยเห็นว่าไม่ควรจะขึ้นเกิน 370 บาท หรือบางธุรกิจอาจมองว่าต้องต่ำกว่านี้

ทั้งนี้ ควรให้อนุกรรมการระดับจังหวัดทบทวนตัวเลขของจังหวัดตัวเองว่าควรเป็นเท่าไร ดังนั้นในท้ายสุดแล้ว อาจจะเห็นค่าแรงไม่เท่ากันทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยา เพราะการปรับขึ้นค่าแรง จะเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนในส่วนนี้ได้ ก็จะเกิดการปลดคนงาน และหันไปใช้เครื่องจักรมาทดแทน หรือการใช้ AI เข้ามาแทนที่แรงงานคนมากขึ้น

"แต่หากรัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจน ว่าจะเยียวยาอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นการทดแทนหรือชดเชยกับการที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้ ก็อาจจะสามารถชดเชยกันได้...เมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเร็ว ก็จะเห็น AI เข้ามาแทนที่คนเร็วขึ้นเช่นกัน การปรับขึ้นค่าแรง ควรมีงานวิจัยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร หรือได้ผลในเชิงบวกอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความกลัว หรือไม่ให้เกิดข้อถกเถียงกัน" นายธนวรรธน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.