แบงก์เร่งตัดขายหนี้เน่า 1.6 แสนล. ยกแผง ”โรงเหล็ก-โรงแรม-โรงสี”

16 พฤษภาคม 2567
แบงก์เร่งตัดขายหนี้เน่า 1.6 แสนล. ยกแผง ”โรงเหล็ก-โรงแรม-โรงสี”

แบงก์เร่งตัดขายหนี้เสีย 1.6 แสนล้าน บริษัทบริหารสินทรัพย์ “BAM-KCC” ประสานเสียงแบงก์ตัดขายลูกหนี้ธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “โรงเหล็ก” ที่ปิดตัวจากผลกระทบเหล็กจีนดัมพ์ราคาแบกต้นทุนไม่ไหว รวมทั้ง “โรงแรม-โรงสี-ธุรกิจรับเหมา” หางเลขงบฯล่าช้า-หนี้สูง-ดอกเบี้ยแพง-กู้ใหม่ไม่ได้ “JMT-CHAYO” เผยแบงก์โละหนี้รายย่อยยกแผง “บ้าน-รถยนต์” ทะลักตามภาวะเศรษฐกิจชะลอ ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้ ธนาคารเร่งจัดการหนี้เสียเชิงรุก “ตัดหนี้สูญ-ตัดขาย-ปรับโครงสร้าง” หนี้เน่าคงค้างทะลุ 5 แสนล้านบาท

เร่งตัดขายหนี้เน่า 1.6 แสน ล.

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการตัดขายหนี้ของสถาบันการเงินในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ราว 140,000-160,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมทั้งหนี้รายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และหนี้รายใหญ่ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจะเห็นว่าแแบงก์มีการตัดขายหนี้ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ (คอร์ปอเรต) เพิ่มขึ้นชัดเจน จากเดิมที่มีการตัดขายหนี้กลุ่มนี้น้อยมาก ๆ

โดยหนี้ธุรกิจรายใหญ่ที่พบมากได้แก่ โรงงานเหล็ก ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ซื้อวัตถุดิบมาแปรรูปในโรงงานไทย ซึ่งมีต้นทุนทางด้านพลังงานและต้นทุนอื่น ๆ ค่อนข้างสูง และมาเจอมาตรการ Zero Tax ของจีน ที่ไม่มีกำแพงภาษี ขณะที่จีนมีศักยภาพการผลิตที่ล้น สามารถกดราคาลงต่ำกว่าต้นทุนเพื่อแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งได้ เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ต้องปิดโรงงานในที่สุด

“โรงเหล็ก-โรงแรม” พรึ่บ

นายบัณฑิตกล่าวว่า นอกจากกลุ่มโรงเหล็ก ยังมีกลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก ที่แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว แต่บางโรงแรมที่มีหนี้สูง ภาระดอกเบี้ยสูง ไม่สามารถกู้เงินใหม่มาปรับปรุงได้ ทำให้โรงแรมไม่สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ กลุ่มนี้จะเห็นการตัดขายออกมา เพื่อเปลี่ยนมือ เปลี่ยนเจ้าของใหม่ อย่างไรก็ดี ราคาซื้ออาจจะปรับลดลง หรือมีราคาส่วนลด (Discount Rate) เนื่องจากผู้ซื้อมีต้นทุนทางการเงินหรือดอกเบี้ยสูง ทำให้ราคาซื้ออาจจะไม่สูงมาก

“ตั้งแต่ต้นปี แบงก์มีการตัดขายหนี้ออกมาแล้ว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยหนี้คอร์ปอเรตส่วนใหญ่มาเป็นพอร์ต เช่น มูลหนี้ 1,000 ล้านบาท แต่จะขายเป็นรายชิ้น ทั้งโรงเหล็ก โรงแรม โรงสี ส่วนหนี้พวกรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล น่าจะสูงมากเหมือนกัน เพราะยิ่งเข้าช่วงเปิดเทอม ผิดนัดชำระหนี้จะยิ่งสูง อย่างไรก็ดี แบงก์ก็น่าจะรู้ว่าหนี้ที่ออกมาขายเยอะก็น่าจะขายไม่ได้ทั้งหมด เพราะคนซื้อมีกำลังจำกัด

5 เดือนแบงก์โละหนี้เน่า 6 หมื่น ล.

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล หรือ KCC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทได้รับเชิญจากสถาบันการเงินเข้าร่วมประมูลหนี้แล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยมีทั้งกลุ่มหนี้บ้าน ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวโน้มหนี้เสียที่เห็นสัญญาณเพิ่มขึ้นจะเป็นสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ เนื่องจากไทยเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 และมาเจอปัญหางบประมาณล่าช้า ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหายไป แม้ว่าภาคท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่การส่งออกยังคงติดลบ ส่งผลให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อน้อยลง สะท้อนจากยอดปฏิเสธสินเชื่อปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

“เอสเอ็มอี-รับเหมา”

นายทวีกล่าวว่า อย่างไรก็ดี หนี้ที่มีการประมูลส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บ้านและหนี้ธุรกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าธนาคารมีการตัดขายหนี้เอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานเหล็ก รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากงบประมาณล่าช้าด้วย

โดยบริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนเพื่อรับซื้อหนี้มาบริหารปี 2567 อยู่ที่ราว 900 ล้านบาท โดยมีการยื่นประมูลไปแล้ว 500 ล้านบาท ซึ่งจะรู้ผลการประมูลภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

“วิธีการบริหารหลังรับซื้อหนี้มา หลัก ๆ มีอยู่ 2 วิธี คือ ปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า และการดำเนินคดีฟ้องร้องยึดหลักประกัน ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลานาน 3-5 ปี โดยช่วงสิ้นเดือน พ.ค.นี้รอลุ้นผลที่เรายื่นไป 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ธุรกิจหลากหลาย”

รถยนต์-บ้าน หนี้ไหลไม่หยุด

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 น่าจะเห็นสถาบันการเงินตัดขายหนี้ออกมามากขึ้นกว่าช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ทำให้กระบวนการการตัดขายหนี้ชะลอออกไปราว 1 ไตรมาส

ทั้งนี้ หนี้ที่สถาบันการเงินนำมาตัดขาย ส่วนใหญ่จะมีทั้งหนี้เก่าและหนี้เกิดใหม่ ซึ่งจะมาแบบยกแผง ทั้งหนี้บ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือน และหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีสัญญาณเพิ่มขึ้นในกลุ่มดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่

ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทรัพย์ที่สถาบันการเงินนำออกมาประมูลมีทั้งหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต และสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งเห็นสัญญาณการตัดขายหนี้ประเภทสินเชื่อบ้านและรถยนต์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงกลุ่มหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก

“ปีนี้ยังเป็นโอกาสของผู้ซื้อ เพราะจะเห็นแบงก์ทยอยตัดขายหนี้ออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 และ 4 ที่จะมีออกมามากขึ้น โดยปีนี้เราตั้งงบฯลงทุนซื้อหนี้มาบริหารราว 1,000-1,500 ล้านบาท คาดว่าจะได้มูลหนี้กลับมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนจะเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 75% และไม่มีหลักประกัน 25%

NPL แบงก์ทะลุ 5 แสนล้าน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเอ็นพีแอลช่วงที่เหลือของปี 2567 ยังคงมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่คาดว่าทยอยฟื้นตัว รวมถึงระหว่างทางธนาคารพาณิชย์มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้เสียตามหลักเกณฑ์ของแบงก์ชาติ

จากแนวโน้มเอ็นพีแอลที่ยังมีทิศทางขยับเพิ่มขึ้น จะเห็นธนาคารพาณิชย์ยังให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการเอ็นพีแอลเชิงรุกมากขึ้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ (Write-off) หรือการตัดขายหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เป็นต้น

ศูนย์วิจัยคาดว่าหนี้เอ็นพีแอลจะขยับเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 2.65-2.85% ต่อสินเชื่อรวมทั้งระบบ หรือคิดเป็นยอดเอ็นพีแอลคงค้าง 5.02-5.22 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 2.66% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4.93 แสนล้านบาท

“เรายังเห็นหนี้เสียขยับเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทำให้กลุ่มที่รายได้ไม่กลับมามีปัญหาในการชำระหนี้”


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.