นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ‘สงครามการค้า‘ ลามเป็นสงครามค่าเงิน ฉุดเศรษฐกิจดิ่ง

17 พฤษภาคม 2567
นักเศรษฐศาสตร์ห่วง ‘สงครามการค้า‘ ลามเป็นสงครามค่าเงิน ฉุดเศรษฐกิจดิ่ง

สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ระอุอีกรอบ ตั้งกำแพงภาษีรถอีวีจีน 100% “เคเคพี” จับตาผลกระทบ 4 ด้าน หวั่นลามเป็นสงครามค่าเงิน ซีไอเอ็มบีไทย ชี้ การค้าโลกชะลอ ไทยเสียมากกว่าได้

สงครามการค้ารอบใหม่ส่อแววรุนแรงมากขึ้น หลังสหรัฐประกาศขึ้นภาษีเพื่อสกัดสินค้าจีนถึง 4 เท่าตัว โดยการขึ้นกำแพงภาษีรอบใหม่นี้คาดจะครอบคลุมสินค้าจีนคิดเป็นราว 1.8 หมื่นล้านบาท หรือ 6.6 แสนล้านบาท โดยจะทยอยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

นักเศรษฐศาสตร์ไทย เชื่อว่า “ไทย”ได้ผลเสียมากกว่าผลดี หวั่นส่งออก การผลิตไทยถูกกระทบหนัก สุดท้ายอาจลามกระทบต่อจีดีพีไทยให้ลดลงในระยะข้างหน้า

จับตาผลกระทบ4ด้าน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐรอบใหม่ เพื่อสกัดสินค้าจีนครั้งนี้ จะคล้ายกับสมัยที่ “ทรัมป์” ที่มีการตอบโต้กีดกันทางการค้าจีนอย่างรุนแรง มองผลกระทบจะมี 4 ด้านด้วยกัน คือ

1.การกีดกันการค้าอย่างรุนแรง อาจกระทบต่อผู้ค้าไทยและผู้ค้าทั่วโลกแน่นอน

2.กระทบการส่งออกทั่วโลก และไทย เนื่องจาก การกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนหันมาส่งออกมาไทย และใช้ไทยส่งออกไปสหรัฐแทน ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาสินค้าหลายรายการที่ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐมากขึ้น เช่น โซลาเซลล์ ซึ่งสหรัฐเองเคยมีแนวคิดเก็บภาษีจากไทย และอาเซียนมาแล้ว

ดังนั้นหากมีการเก็บภาษีเพิ่มเติม สหรัฐอาจกลับมาทบทวนเก็บภาษีจากการหลบเลี่ยงของสินค้าจีน ที่ส่งออกมาไทย เพื่อกลับไปส่งออกกลับไปที่สหรัฐได้เช่นเดียวกัน

ซึ่ง ผลกระทบต่อประเทศไทยมีแน่นอน ไม่เฉพาะผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับจีนเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการที่ส่งออกไปสหรัฐเองก็อาจถูกผลกระทบนี้ได้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ ที่เป็นสินค้าส่งออกของไทยที่เติบโตต่อเนื่อง

หวั่นเกิดสงครามราคาระหว่างจีน-ไทย

3.การถูกขึ้นกำแพงภาษีของจีน อาจทำให้จีนปรับตัวหันมาส่งออกมาสู่ไทย และอาเซียนมากขึ้น และด้วยจีนถือเป็นผู้ที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิด “สงครามราคากับสินค้าในไทย” จากการลดราคาของจีน ดังนั้น กระทบทั้งราคาสินค้า กระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งกำลังผลิตอาจจะลดลง จากการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้อาจเห็นผู้ประกอบการการไทยเลิกกิจการมากขึ้น

สงครามการค้าลามสู่สงครามค่าเงิน

4.สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ความพยายามของจีน เพื่อทำให้ค่าเงินหยวน อ่อนค่าลง เพื่อเป็นวิธีการที่หลบเลี่ยงผลกระทบจากการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐได้ดีที่สุด เช่น หากสหรัฐมีการขึ้นภาษีมากขึ้น การที่จะทำให้จีนยังสามารถส่งออกสินค้าได้ราคาเท่าเดิม อาจต้องยอมให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง เพื่อให้จีนได้เงินกลับมาเท่าเดิม จากการปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่า ซึ่งประเด็นนี้ กระทบต่อประเทศไทยแน่นอน เพราะค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าตามเงินหยวนได้ ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบตามมาได้

ซึ่งจากผลกระทบข้างต้น เชื่อว่า จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน โดยเฉพาะหากการกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น และไทยได้รับผลกระทบ อาจส่งผลกระทบต่อส่งออก และการผลิตของไทยให้ลดลงได้ ซึ่งเหล่านี้อาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปีนี้ และข้างหน้าให้ลดลงได้

“วันนี้ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันอยู่แล้ว หากจีนเข้ามาดัมพ์ตลาด ไทยอาจสู้ไม่ได้ เอสเอ็มอีอาจไปไม่รอด เพราะจากความสามารถในการผลิตของจีนระดับโลก ทำให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำลง ดังนั้น ประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนแอไม่เฉพาะการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ที่ต้องติดตามคือ ผลกระทบจะลามต่อเนื่องหรือไม่ เพื่อสกัดสินค้าจีนเข้าประเทศ”

 


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.