กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้วิจารณ์การตัดสินใจของคณะบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนบางรายการ พร้อมเตือนว่าความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศเสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
นางจูลี โคแซค โฆษกของ IMF กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ณ กรุงวอชิงตันว่า “เรามองว่า สหรัฐควรจะดำเนินการที่เป็นประโยชน์มากกว่าด้วยการคงนโยบายการค้าแบบเปิด ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐเองมาตลอด”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 พ.ค.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารอบใหม่จากจีนหลายรายการ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันพฤหัสบดี นางเลล เบรนาร์ด ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของของปธน.ไบเดน ออกมาปกป้องการปรับขึ้นภาษีรอบใหม่นี้ว่ามีความจำเป็นในการปกป้องธุรกิจและแรงงานสหรัฐ จาก “การส่งออกของจีนที่มีมูลค่าต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างไม่ยุติธรรม”
นางโคแซคเสริมว่า งานวิจัยของ IMF ระบุว่า การแตกกลุ่ม (fragmentation) ทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้มากมาย รวมถึงฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกได้มากถึง 7% ในกรณีที่เกิด “การแตกกลุ่มที่รุนแรง” ซึ่งเทียบเท่ากับ GDP ของเยอรมนีและญี่ปุ่น และอาจจะสูงขึ้นอีกหากเกิดความเสียหายทางการค้าและความพร้อมของเทคโนโลยี
“เรายังสนับสนุนให้สหรัฐและจีนร่วมมือกันเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อจัดการกับต้นตอความกังวลที่ทำให้ความตึงเครียดทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้น” นางโคแซคระบุ “นอกจากนั้น เราขอเรียกร้องให้ทุกประเทศแก้ไขความแตกต่างภายในกรอบพหุภาคี”
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐประกาศแผนการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนขึ้น 4 เท่า สู่ระดับ 100% ในปี 2567 พร้อมประกาศว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าโซลาร์เซลจากจีน 2 เท่า สู่ระดับ 50% ในปี 2567 และปรับขึ้นภาษีนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ขึ้น 2 เท่า สู่ระดับ 50% ภายในปี 2568 นอกจากนี้ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากจีนอีก 3 เท่า สู่ระดับ 25% ในปี 2567
ส่วนจีนมองว่าการที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็นการสร้างกระแสทางการเมือง ก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.ปีนี้