สภาพัฒน์ แถลง GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ดีกว่าตลาดคาด แต่หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือโต 2.5%

20 พฤษภาคม 2567
สภาพัฒน์ แถลง GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ดีกว่าตลาดคาด แต่หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือโต 2.5%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 เติบโต 1.5% จากตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 0.7-0.8% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 67 ลงเหลือเติบโต 2-3% หรือช่วงกลางของคาดการณ์ที่ 2.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 2.2-3.2% เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าคาด การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาด และการลงทุนภาครัฐยังหดตัว

*GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ลดลงจาก Q4/66

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ภาคการผลิตในไตรมาส 1/67 ขยายตัวได้ 1.5% ลดลงจาก 1.7% ในไตรมาส 4/66 เป็นผลจากภาคเกษตร ลดลง 3.5% ที่ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน อ้อยและผลไม้ ลดลง การผลิตภาคนอกเกษตร ขยายตัวได้ 2.0% การผลิตภาคบริการ ขยายตัว 3.6% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.2% ตามการลดลงของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการลงทุนภาครัฐ ลดลงถึง 27.7% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 ที่ลดลง 20.1% ปัจจัยหลักมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ลดลง 2.8 % ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวได้ 4.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้าง และด้านเครื่องมือเครื่องจักร

การใช้จ่ายภาครัฐ ลดลง 2.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 3% ในไตรมาส 4/66 เป็นผลจากความล่าช้าในการอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณ

สำหรับการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 6.9% ต่อเนื่องจาก 7.4% ในไตรมาส 4/66 ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงในรอบ 18 ไตรมาส รวมถึงสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทนและหมวดบริการขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านการส่งออกสินค้า ลดลง 2.0% สำหรับสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงมาจากเครื่องปรับอากาศ รถกระบะและรถบรรทุก แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา และคอมพิวเตอร์ เหล็กและเหล็กกล้า และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งยังส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 58.6 พันล้านบาท

*หั่นคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือโต 2-3% จากเดิม 2.2-3.2%

สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2-3% (ค่ากลาง 2.5%) จากเดิมคาดโตราว 2.2-3.2% แต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9 % ในปี 2566

นายดนุชา กล่าวว่า ตัวเลขที่ปรับลงมาในแง่ภาคผลิตอุตสาหกรรม และภาคส่งออก มีสัดส่วนค่อนข้างมากใน GDP และมาจากสถานการณ์จากภายนอกประเทศด้วย แต่ในขณะนี้งบประมาณปี 67 ออกมาแล้ว ทำให้ช่วงที่เหลือของปี 67 เม็ดเงินจากภาครัฐทยอยเข้ามาในระบบเศรษฐกิจและต้องมีการเร่งเบิกจ่าย ถ้าทำได้ดี เศรษฐกิจไทยน่าขยายตัวในกรอบนี้ และการส่งออกถ้าสามารถขยายตลาดได้ น่าปรับตัวดีขึ้น โดยรวมแล้วเศรษฐกิจยังขยายตัวได้อยู่ 2.5%

สำหรับการส่งออกของไทยหากเร่งทำตลาดและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยที่กระทบการส่งออก น่าจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการส่งออกสินค้าที่เป็นสินค้าไฮเทคโนโลยียังคงน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งดึงอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงผ่านกระบวนการบีโอไอ

*ปัจจัยสนับสนุนสำคัญในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่

  1. การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี ภายหลังจากที่ประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณ 67 และการปรับเพิ่มวงเงิน พ.ร.บ.งบประมาณ 68
  2. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว มาจากปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยว จากจีน อินเดีย รัสเซียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มเติมของภาครัฐ
  3. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ สอดคล้องกับการฟื้นตัวดีของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
  4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
  5. การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก สอดคล้องกับข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น

*ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ

  1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ระดับสูง ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์หรือภาคการเงิน อาจต้องพิจารณามาตรการต่างๆที่เข้ามาเสริม ที่ทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสินเชื่อครัวเรือนยังมีปัญหา โดยเฉพาะรถยนต์และเริ่มมีปัญหาภาคที่อยู่อาศัย
  2. ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร ปรับตัวลดลง และช่วงที่เหลือของปีอาจประสบปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ต้องระวัดระวัง การติดตามสถานการณ์ และมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร
  3. ความเสี่ยงความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อการขนส่งผ่านคลองสุเอซมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

4.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีการปรับลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายๆประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐอเมริกาใช้กับจีน ทำให้ไทยต้องมีการเฝ้าระวังการทุ่มตลาดและสินค้าที่เข้ามา ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

*การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้

  1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยการเร่งรัดเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 90.0% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด
  2. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ การสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลแฟ็กเตอริงเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
  3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ เช่น การติดตามและวางแผนแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด การเตรียมความพร้อมด้านการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาอุทกภัย การฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพอากาศและโรคพืช รวมทั้งให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นต้น
  4. การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า การติดตามเฝ้าระวังการทุ่มตลาดและการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว ผ่านการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term resident visa (LTR) และการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ
  5. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก

แหล่งที่มา : RYT9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.