“เทรดวอร์” ทำขาดดุลเพิ่ม หวั่นเหล็ก-แบตอีวีจีนทะลักไทย

23 พฤษภาคม 2567
“เทรดวอร์” ทำขาดดุลเพิ่ม หวั่นเหล็ก-แบตอีวีจีนทะลักไทย

เทรดวอร์รอบใหม่ หลัง “ไบเดน” ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 100% หวังเอาใจฐานเสียงก่อนเลือกตั้ง ส่งผลสินค้าจีนทะลักเข้าไทยทั้ง “เหล็ก-แบตเตอรี่-แผงโซลาร์” ดันขาดดุลการค้าปี 2567 กับจีนพุ่ง 1.5 ล้านล้านบาท หวั่นซวยซ้ำหากมีสินค้าจีนตั้งโรงงานในไทยเพื่อเลี่ยงภาษีส่งออกไปสหรัฐ หอการค้าไทยในจีนจับตา “จีนโต้คืนมะกัน” กลุ่มยานยนต์เชื่อจีนไม่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV เข้าสหรัฐเพราะไม่คุ้ม

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 สหรัฐประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายประเภทในอัตราระหว่าง 25-100% โดยการประกาศขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 ซึ่งเป็นมาตราที่ให้อำนาจในการกำหนดมาตรการตอบโต้ประเทศที่ละเมิดสิทธิและผลประโยชน์สหรัฐ รวมถึงมีการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐด้วย

สำหรับรายการสินค้าจีนที่สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษี ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม จากอัตราภาษี 0-7.5% เพิ่มเป็น 25%, รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จาก 25% เพิ่มเป็น 100%, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับ EV จาก 7.5% เป็น 25% โดยให้มีผลบังคับใช้ในปีนี้, แร่ธาตุสำคัญหลายชนิด (ไม่ระบุชื่อเจาะจง) จาก 0% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลให้ปีนี้, กราไฟต์ธรรมชาติและแม่เหล็กถาวร จาก 0% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลในปี 2569, เซมิคอนดักเตอร์หรือชิป จาก 25% เพิ่มเป็น 50% มีผลในปี 2568

เครนยกตู้สินค้าหน้าท่าเรือจาก 0% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลในปีนี้, เข็มฉีดยา (Syringe) และเข็มเย็บแผล (Needle) จาก 0% เพิ่มเป็น 50% มีผลในปีนี้, อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) บางประเภท รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจและหน้ากากอนามัยบางประเภทจาก 0-7.5% เพิ่มเป็น 25% มีผลในปีนี้ และถุงมือยางทางการแพทย์และถุงมือผ่าตัดจาก 7.5% เพิ่มเป็น 25% ให้มีผลบังคับใช้ในปี 2569

มีการคาดการณ์ว่า การที่สหรัฐประกาศตอบโต้ทางการค้าด้วยการขึ้นภาษีกับสินค้าที่นำเข้าจากจีน จะส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อประเทศไทย

เนื่องจากทั้งจีนและสหรัฐจัดเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยเฉพาะจีนมีมูลค่าการค้ากับไทยปี 2566 ถึง 3.64 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ไทยนำเข้าสินค้าจากจีน 2.47 ล้านล้านบาท ส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท ถือว่า “สูงสุดเป็นประวัติการณ์”

ไทยขาดดุลการค้าจีนพุ่งพรวด

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่าประเทศ ในฐานะที่ปรึกษา บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (IRC) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากสหรัฐจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 จึงต้องการแก้ปัญหาเรื่องที่สหรัฐประสบปัญหาขาดดุลการค้าให้กับจีนถึง 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ 600,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเรียกว่าขนาดใหญ่กว่าการค้าระหว่างจีน-รัสเซียถึง 3 เท่า ทำให้ ประธานาธิบดีไบเดน ต้องเร่งประกาศมาตรการก่อนที่จะมีการจัดดีเบตในเดือนมิถุนายนนี้

“ผลกระทบต่อไทยจะมองได้ 2 เรื่อง คือ ไทยมีความเสี่ยงที่จะขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเป็น 1.5-1.6 ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดดุลจีนอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท เพราะสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจะไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้ ดังนั้นจะต้องหาทางระบายมายังตลาดอาเซียนและไทย ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 ตัวหลัก คือ 1) เหล็กที่ต้องมาแน่นอน เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังชะลอตัว เมื่อสหรัฐประกาศขึ้นภาษีทำให้เหล็กจีนผลิตล้นและคงเหลือสต๊อกมากขึ้น จาก 100 ล้านเป็น 300 ล้านตันต่อปี

2) สินค้าแบตเตอรี่รถ EV มาแน่นอน เพราะไทยมียอดการซื้อรถ EV มากขึ้น และในประเทศไทยยังไม่โรงงานผลิตรถ EV และ 3) แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในจีนจะมีราคาถูกจะถูกส่งมาที่ไทยมากขึ้น จากความต้องการแผงโซลาร์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลพวงจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในไทย” นายอัทธ์กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องตั้งรับนอกจากการขาดดุลการค้าแล้วก็จะต้องระวังการย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามาในไทย เพื่อเลี่ยงภาษีส่งออกเข้าไปยังตลาดสหรัฐอีกทีหนึ่ง โดยมีตัวอย่างจากการถูกเก็บภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anticircumvention : AC) อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ ที่เคยถูกเก็บภาษี AC ไปก่อนหน้านี้

จับตาจีนตอบโต้สหรัฐ

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความเสียหายจากการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐที่มีต่อสินค้าจีน จะยังไม่จบที่ 18,000 ล้านเหรียญ เพราะเชื่อมั่นว่า “จีนจะตอบโต้สหรัฐแน่นอน” ในระดับที่มีความรุนแรงมากกว่าหรือเท่ากัน คือ 18,000 ล้านเหรียญ คิดเป็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการค้าเท่าตัว หรือ 36,000 ล้านเหรียญ ยอดการส่งออกจะลดลง 2-3%

ดังนั้น สัญญาณที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะทําให้การค้าโลกชะลอตัวลง หากมาตรการตอบโต้ระหว่างกันส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าต้นน้ำแพงขึ้น แน่นอนว่าภาพรวมเศรษฐกิจ จีนขยายตัวไม่ถึงเป้า 5% กำลังซื้อของตลาดต่าง ๆ รวมถึงตลาดส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลืออยู่ของปีนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่

จีนหันถล่มสินค้าเข้าอาเซียน

ดร.ไพจิตรกล่าวต่อไปว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไทย คือ 1) การค้าระหว่างประเทศของไทยจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการการเพิ่มภาษี “อย่างจํากัด” เท่านั้น เพราะว่าใน 7 กลุ่มสินค้านั้น มีหมวดที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกเพียงบางรายการ อย่างเช่น สินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือถุงมือยาง จะได้อานิสงส์ทำให้แข่งขันส่งออกดีขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าจีน แต่สินค้ากลุ่มอื่น ๆไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ EV, แผงโซลาร์เซลล์ ไทยไม่ได้มีความสามารถในการผลิต

2) ในแง่การดึงดูดการลงทุนที่ย้ายเข้ามา “ยังมีตัวแปรหลายส่วน” แม้ว่าขณะนี้ฐานการผลิตในเมืองจีนจะถูกกดดันจากสหรัฐให้เคลื่อนย้ายหรือกระจายฐานการผลิตไปอยู่ในต่างประเทศ แต่การที่ไทยจะได้รับประโยชน์มากน้อยหรือเป็นโอกาสเพียงใด ขึ้นอยู่กับ “ความพร้อมของไทยเอง” เช่น ไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอํานวยความสะดวกรองรับอุตสาหกรรมหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าไฮเทค อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ EV ซึ่งรถยนต์ EV ในขณะนี้ไทยยังเป็นฐานการผลิตเพื่อตลาดในประเทศส่วนใหญ่

แม้ว่าบางค่าย เช่น MG ประกาศขยายการลงทุนผลิตเพื่อการส่งออก ไทยเป็นฐานผลิตพวงมาลัยขวา ซึ่งก็ไม่ใช่รถที่จะผลิตเพื่อตลาดสหรัฐ และอีกด้านหนึ่งหากจะผลิตรถ EV ส่งออกไปสหรัฐจริง นักลงทุนสามารถย้ายฐานผลิตไปยังประเทศในแถบละตินอเมริกา เช่น เม็กซิโก บราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงการค้ากับสหรัฐ และได้ยังเปรียบต้นทุนโลจิสติกส์ที่ใกล้กว่ากันด้วย

“อนาคตต่อไปจะไม่ใช่เฉพาะสหรัฐเท่านั้นที่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแบบนี้ แต่จะเป็น กลุ่มสหภาพยุโรป ที่อาจจะกําหนดมาตรการกีดกันในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โอกาสเหล่านี้อาจเปิดกว้างสําหรับไทย แต่ขณะเดียวกันไทยก็ต้องแย่งชิงกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพื่อที่จะดึงการลงทุนเช่นกัน ตอนนี้ไทยยังเผชิญกับปัญหาในเรื่องขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในมิติปริมาณและคุณภาพ ธุรกิจจีนที่จะขยายการลงทุนเข้ามา แต่ต้องประสบความล่าช้าเพราะหาบุคลากรไม่ได้

สิ่งที่ไทยต้องทำคือ จะปรับโครงสร้างฐานการผลิตอย่างไรและต้องเร่งแก้ปัญหาอุปสรรค ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคิดและเดินหน้าทําให้เกิดเป็นรูปธรรม ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่สามารถดึงการลงทุนได้” ดร.ไพจิตรกล่าว

3) โอกาสที่สินค้าต้นทุนถูกจากจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงจากสหรัฐ จะหนีเข้ามา “ถล่ม” ตลาดอาเซียนและไทย “ทำให้ขาดดุลการค้ามากขึ้น” นี่เป็นความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้น แน่นอนสินค้ารถยนต์พวงมาลัยซ้าย-ขวา, เซมิคอนดักเตอร์, แผงโซลาร์เซลล์ มันอาจจะหาแหล่งที่ไปที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้กระทั่งสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ของไทยที่คิดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังตลาดอเมริกา แต่ไม่แน่อาจจะกลายเป็นสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ของจีนไหลเข้ามาในตลาดอาเซียนแทน

ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง “ผลที่จะเกิดขึ้นจะเห็นในปีนี้เลย ซึ่งมันจะส่งผลกระทบในทันทีกับสินค้าเหล่านั้น ด้านการลงทุนจีนได้รับแรงกดดันจากสหรัฐมา 2-3 ปีแล้ว มันก็ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้น เราเห็นได้จากซัพพลายเออร์ในจีนเข้ามาขยายและสํารวจตลาดในไทยค่อนข้างมาก”

จับตาภาษี AC ซ้ำรอยแผงโซลาร์

ขณะที่ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงผลจากการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐต่อสินค้าจีน “จะมองได้ 2 มุม” ในแง่บวกจะเป็นประโยชน์และสร้างโอกาสต่อการค้าและการลงทุน เอกชนที่เคยลงทุนในประเทศจีน มีโอกาสการขยายการลงทุนมาในไทย เพราะมองว่าเป็นแหล่งลงทุนที่ดี รัฐบาลนายกฯเศรษฐามีนโยบายที่เปิดกว้างรองรับการขยายการลงทุน ทั้งการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือจะต้องมีการวางมาตรการส่งเสริมให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย (Local Centent) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายซัพพลายเชนร่วมกับอุตสาหกรรมระดับโลก

ในอีกแง่หนึ่งเมื่อสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยสัดส่วนมากกว่าวัตถุดิบนำเข้าก็จะถือว่าเป็น “สินค้าไทย” ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีที่จีนย้ายฐานมาผลิต “แผงโซลาร์เซลล์” ในไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ จนถูกสหรัฐประกาศใช้มาตรการว่า สินค้านั้นหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การใช้มาตรการทุ่มตลาด (Anticircumvention : AC) จากจีนมาใช้ไทยเป็นฐานส่งออกแทน และกำลังอยู่ระหว่างการขยายผลในการฟ้องร้องว่า รัฐบาลไทยใช้มาตรการอุดหนุน (CVD)

ทั้งนี้ หากไทยสามารถวางแนวทางเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้นได้ ไม่เพียงจะลดปัญหาการถูกฟ้อง CVD/AC ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งออกเช่นเดียวกับ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่ไทยสามารถส่งรถญี่ปุ่นที่เข้ามาผลิตและใช้วัตถุดิบในประเทศไทยส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย โดยได้รับสิทธิการลดภาษีนำเข้าตามกรอบ TAFTA ได้

ถุงมือยางรับอานิสงส์แทนจีน

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าวว่า การที่สหรัฐเพิ่มภาษีนำเข้าถุงมือยางทางการแพทย์จากจีนที่จะเพิ่มจาก 7.5% เป็น 25% ในปี 2026 นั้น ไทยจะมีโอกาส “ชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น” ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อ STGT เนื่องจากตอนนี้สัดส่วนตลาดสหรัฐของ STGT อยู่ที่ 20-25% ถ้าภาษีนี้มีผลบังคับใช้ทันทีก็จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และมีโอกาสเพิ่มสัดส่วน Market Share ที่ตลาดสหรัฐได้อีก

หวั่น EV จีนทะลักกระทบไทย

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสิ่งที่น่ากังวลก็คือ สินค้าจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าจะทะลักเข้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ “ซึ่งประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงไม่พ้น” โดยเฉพาะรถยนต์ทั้งรถใช้เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเราแน่ ๆ เพราะแค่นโยบายส่งเสริมรถ EV ก็สร้างปรากฏการณ์และผลกระทบหลายอย่างโดยเฉพาะสงครามราคา ที่ทำให้ตลาดปั่นป่วนอยู่ทุกวันนี้

ส่วนอนาคตมองในมุมบวก ถ้าจีนใช้โรงงานในไทยสามารถส่งออกรถยนต์ไปขายสหรัฐได้ ประเทศไทยก็น่าจะได้รับประโยชน์ ทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและการจ้างงาน แต่ถึงตอนนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการที่จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นเพียงพอที่จะทำให้จีนตัดสินใจเลือกลงทุนในไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม

ย้ำไทยฐานผลิต EV จีน พวงมาลัยขวา

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่า MG เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยนั้น จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่จะใช้เป็นฐานผลิตรถ EV และ XEV พวงมาลัยขวา เพื่อรองรับการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนและประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเป็นหลักเท่านั้น ส่วนการจะผลิตรถเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐนั้น “ไม่น่าจะคุ้มค่า” โดยเฉพาะระยะทางในการขนส่ง เท่าที่ทราบรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยส่งเข้าไปสหรัฐมีจำนวนน้อยมาก ๆ หรือแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นทั้งผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับจีนในกรณีรถยนต์ก็น่าจะไม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจาก ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในสหรัฐ อีกทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยก็เป็นการลงทุนเพื่อรองรับกับความต้องการภายในประเทศไทยและตลาดอาเซียนเป็นหลักมากกว่า สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กล่าวยืนยันว่า กรณีขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีน ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อรองรับความต้องการในประเทศกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า

โดยเฉพาะประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเป็นหลัก ส่วนการที่ค่ายจีนอาจจะมีการใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งรถยนต์ไปสหรัฐนั้น ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะลำพังรถยนต์ที่ผลิตจากไทยส่งเข้าไปสหรัฐเองก็มีจำนวนน้อย และหากค่ายจีนจะใช้ช่องว่างตรงนี้ เชื่อว่าจีนน่าจะเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ แถบอเมริกากลาง หรืออเมริกาใต้แทน “น่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า” จากปัจจุบันมีค่ายรถที่เริ่มผลิตรถ EV ในไทยช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีปริมาณการผลิตรวม 2,466 คัน นำโดยค่าย GWM, MG และ Honda ส่วนค่าย NETA จะผลิตในต้นเดือนมิถุนายนนี้

ไทยส่งรถไปสหรัฐแค่ 1%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะต้องรอดูในส่วนของรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้งว่า จะมีการปรับขึ้นภาษีในส่วนใดบ้าง และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งมูลค่า 81.07 ล้านเหรียญ หรือลดลงจากปี 2565 ราว ๆ 28% มีสัดส่วนตลาดแค่ 0.66% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่ง และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค. 2567) ส่งออกไป 19.93 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 97% สัดส่วน 1.89% ของยอดส่งออกรถยนต์นั่ง “ไทยมีการส่งรถยนต์ไปอเมริกาเหนือ แค่รถนั่งและรถปิกอัพ 3 เดือนปีนี้มีแค่ 16,098 คัน ส่วนส่งตรงเข้าไปยังสหรัฐอเมริกานั้นแทบไม่มีเลย”

ส่วนกรณีถ้าจีนจะย้ายฐานผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐด้วยการเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยนั้น “ก็ต้องรอดู” แต่ส่วนใหญ่ค่ายรถยนต์ที่เข้ามาวันนี้ไม่น่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตไปสหรัฐ และประเด็นสำคัญ รถ EV ที่เข้าไปทำตลาดในสหรัฐส่วนใหญ่จะเป็นรถที่มาจากยุโรป


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.