“พิมพ์ภัทรา” ใช้โมเดลญี่ปุ่น ตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular

21 กรกฎาคม 2567
“พิมพ์ภัทรา” ใช้โมเดลญี่ปุ่น ตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular
“พิมพ์ภัทรา” นำทีมเยือนญี่ปุ่น 21-27 กรกฎาคม 2567 ปักหมุดดูงานพัฒนาการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม Circular” หารือ NEDO-JETRO ศึกษาแนวทางพัฒนาการลงทุนในไทย เน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน มู่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 21-27 กรกฎาคม 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม

โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรืออีอีซี) ร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยเฉพาะรถยนต์ EV ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตและลงทุนในประเทศไทย

โครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular จะตอบโจทย์ในโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (NEDO) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความคิดไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการเข้าเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลรถยนต์และการกำจัดของเสียในโรงงานของบริษัท Eco-R Japan และศึกษาเทคโนโลยีของบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI Corporation) รวมถึงการใช้แอมโมเนียแทนก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

พร้อมทั้งเยี่ยมชม กระบวนการรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ของบริษัท J-Relights และกระบวนการรีไซเคิล แผงโซลาร์เซลส์ บริษัท Shinryo
Corporation ด้วย อีกหนึ่งไฮไลต์ของการเยือนครั้งนี้ คือ การศึกษาดูงานเมืองเชิงนิเวศคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ รวมทั้งหารือกับสำนักสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองคิตะคิวชู เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ BCG Model

“การเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ทุกประเทศมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

สำหรับการเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ คณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานยุทธศาสตร์ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะผู้บริหารกระทรวง ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรกปี 2566 โตถึง 1.6% มีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของไทย โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนถึง 293 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท

กองสื่อสารองค์กร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.