คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้รับสัมปทาน ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แต่ทั้งนี้ รวมกัน ไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ รฟม. จะต้องระบุสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไว้ในประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประมูลทุกรายทราบโดยทั่วกัน
นอกจากนี้อนุมัติการส่งเสริมให้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,130 ล้านบาท ที่ตั้งโครงการในจังหวัดชลบุรี เพื่อผลิต ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ และมีแผนพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐ
ปัจจุบันมีโครงการรถยนต์ไฟฟ้ารวม 9 โครงการ เป็น PHEV ของ มิตซูบิชิ 1 โครงการ โครงการรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด(HEV) ที่เคยอนุมัติไปแล้ว 3 โครงการ โครงการรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) ที่เคยอนุมัติไปแล้ว 1 โครงการ และอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติโครงการ PHEV อีก 4 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 51,550 ล้านบาท โดยอนุมัติลงทุนแบตเตอรี่ไปแล้ว 10 โครงการ วงเงินลงทุน 6,800 ล้านบาท
ส่วนความชัดเจนการส่งเสริมลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด(อีโค อีวี) นั้น เบื้องต้นได้หารือร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ 4 ค่ายแล้ว เพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงทิศทางและความเป็นไปได้ในการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดว่าภาคเอกชนมีความเห็นคิดอย่างไรจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปรากฏว่าเสียงตอบรับจากผู้ผลิตรถยนต์ ทั้ง 4 ค่าย ไม่ค่อยมีความสนใจลงทุนโครงการนี้
ส่วนแนวโน้มการลงทุนปีนี้ยังคงเป้าหมาย ยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 750,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 720,000 ล้านบาท แต่มียอดยื่นคำขอมูลค่ารวมมากกว่า 800,000 ล้านบาท แม้ช่วงปลายปีที่ผ่านมาการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง
"นักลงทุนยังให้ความสนใจโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ เพราะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ อีกทั้งทิศทางการเข้ามาลงทุนได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนด้วยกันมากขึ้น จากผลบวกที่จะมีการย้ายฐานการผลิตและลงทุนเข้ามาในไทยมากขึ้น จากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐ โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การบิน ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงเศรษฐกิจชีวภาพทั้งด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์"นางสาวดวงใจกล่าว
ขณะเดียวกัน บีโอไอยังเห็นชอบกำหนดพื้นที่เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) สำหรับกิจการใดที่เป็นกิจการเป้าหมายในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ได้ โดยจะต้องยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการอีอีซี ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 และย้ายไปตั้งอยู่ในเขต อีอีซีไอ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565
อ่านต่อได้ที่ :
https://www.ryt9.com/s/nnd/2968257
แหล่งที่มา : RYT9