อาเซียนร่วมผลักดันเจรจาRCEPมั่นใจได้ข้อสรุปในปีนี้ขยายตลาด-ส่วนแบ่งการค้าโตเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

06 กันยายน 2562
อาเซียนร่วมผลักดันเจรจาRCEPมั่นใจได้ข้อสรุปในปีนี้ขยายตลาด-ส่วนแบ่งการค้าโตเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

          ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 เริ่มแล้ว “จุรินทร์”มั่นใจจะสร้างความเข้มแข็งสู่เสถียรภาพและความมั่นคงทุกด้านของสมาชิก เจรจาอาร์เซปจบ ปีนี้ เพิ่มขนาดตลาดการค้าใหญ่ขึ้นทะลุ 3,500 ล้านคน หรือ 50% ของจำนวนประชากรโลก ขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดว่า ตลอดระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมานับจากอาเซียนก่อตั้งขึ้นได้ ดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค ซึ่งนำมาสู่เสถียรภาพและความมั่นคงของอาเซียน และยังส่งเสริมบทบาทและความสำคัญของอาเซียนให้เด่นชัดขึ้นในสายตาประชาคมโลก

โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของการค้าการลงทุนของอาเซียนในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำเร็จที่มาจากการร่วมลงมือระหว่างสมาชิกอาเซียนในการดำเนินมาตรการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และปัจจุบันแม้อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายของการเป็นประชาคมไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่อาเซียนยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการรับมือต่อความท้าทายใหม่ๆเช่น การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจ

ขณะเดียวกันยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานต่อเนื่องในสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และการลดผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะกรอบการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ของทั้ง 10 ประเทศที่ได้ตกลงไว้ให้มีผลตั้งแต่ปี 2560 แต่ติดปัญหาบางประการ ดังนั้น ทั้ง 10 ประเทศจะพยายามใช้มาตรการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ให้ได้โดยเร็วและให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังกันต่อไป

ทั้งนี้ปีนี้ไทยรับตำแหน่งประธานอาเซียน นับว่าการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจฉบับปัจจุบันได้ดำเนินมาเกือบครึ่งทางแล้ว ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันจึงมุ่งเน้นภายใต้แผนงานที่เห็นว่าจะต้องดำเนินงานต่อเนื่องหรือเร่งรัดให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว รวมทั้งเรื่องใหม่ที่อาเซียนยังไม่เคยมีการดำเนินงานมาก่อน โดยคำนึงถึงแนวทางที่นายกฯได้ให้ไว้ ในด้านการเตรียมการสู่อนาคต การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมและแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นการสานต่อจากสิ่งที่สิงคโปร์ได้ผลักดันไว้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน

โดยการจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่4 (4IR) รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ล้วนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับองค์ประกอบสำคัญ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอาเซียนให้มีการพัฒนาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ด้านการสร้างความเชื่อมโยง คาดว่าสมาชิกอาเซียนจะสามารถเข้าร่วมการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศภายในสิ้นปีนี้ ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุนในภูมิภาค อีกทั้งการจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จะเป็นการนำศักยภาพของแต่ละประเทศสมาชิกมาช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอาเซียนผ่านการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงการค้าและกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น

ส่วนผลการเจรจาอาร์เซ็ป (RCEP) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 16 ประเทศ จะช่วยเสริมสร้างความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจามากขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศในการหาทางออกร่วมกันและแสดงความยืดหยุ่นต่อกันให้มากที่สุดในช่วงเวลา 3 เดือนที่เหลือนี้เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาตามที่ผู้นำได้ตั้งเป้าหมายไว้ และมีเวลาจะเจรจาครั้งนี้และอีกครั้งเดือนพ.ย.62 และหวังว่าจะจบตามเป้าหมายที่นายกฯตั้งเป้าไว้ และคาดว่าผู้นำแต่ละประเทศจะมีการลงนามตามกรอบได้ในช่วงปีหน้า

ทั้งนี้เชื่อว่า การเจรจา RCEP มีแนวโน้มสูงที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากแก่ประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศในการเพิ่มตลาดการค้าการส่งออกในระดับใหญ่ขึ้นถึง 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของจำนวนประชากรโลก

“RCEP ถ้าเจรจาเสร็จในปีนี้จะเร่งให้มีการลงนามของผู้นำทั้ง 16 ประเทศโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยทำให้ทั้ง 16 ประเทศมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้นถึง 3,500 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก และทั้ง 16 ประเทศนี้มี GDP มูลค่ารวมกันถึง 30% ของโลก ดังนั้นจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 16 ประเทศรวมทั้งไทยด้วย นี่จึงเป็นที่มา ที่เราพยายามเร่งรัดให้การเจรจาจบภายในปีนี้ให้ได้”

สำหรับความยั่งยืนเป็นประเด็นที่ไทยต้องการสร้างความตระหนักในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ปีนี้อาเซียนจะเริ่มความร่วมมือเพื่อต่อต้านการทำประมงไอยูยู จัดทำแนวทางการพัฒนาตลาดทุนเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจมีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความร่วมมือเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเติบโตของอาเซียนที่มีความสมดุลและยังคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถตอบสนองวิถีชีวิตและความต้องการของคนรุ่นหลังได้ในช่วงเวลานี้

“อาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก อาเซียนจึงจำเป็นต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN unity and centrality) เพื่อให้ประชาคมของเรามีความเข้มแข็งและสามารถก้าวพ้นจากความท้าทายดังกล่าว ซึ่งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนและหุ้นส่วนต่างๆของอาเซียน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายตามที่อาเซียนตั้งไว้ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งนี้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนครึ่งแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 53,557.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 31,316.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 22,240.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยเกินดุล 9,076.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.47 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

อ่านต่อได้ที่ : https://siamrath.co.th/n/101484


แหล่งที่มา : สยามรัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.