ส่องลิสต์ ‘ธุรกิจ'ที่จะฟื้นตัวหลังโควิด-19

23 พฤษภาคม 2563
ส่องลิสต์ ‘ธุรกิจ'ที่จะฟื้นตัวหลังโควิด-19

หลังจากวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ความบอบช้ำทางด้านเศรษฐกิจยังคงทิ้งรอยไว้ หลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็เริ่มมองถึงก้าวต่อไปหลังจากนี้ เพื่อหวังพลิกฟื้นกลับมา มาดูกันว่าธุรกิจอะไรบ้างที่จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว หรือธุรกิจใดจะฟื้นฟูได้ช้า

มวลพายุวิกฤติโควิด-19 ดูท่าจะอ่อนกำลังลงไปบ้างแล้ว เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีทิศทางชะลอตัวลง จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ลดลงจนเหลือศูนย์ แม้ฟากรัฐบาลจะเริ่มคลายล็อกดาวน์ไปแล้วถึงระยะที่ 2 แต่ทิ้งความบอบช้ำทางเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคไว้อยู่
หลังจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากต้องปรับตัวเข้าสู่ความปรกติใหม่ (New Normal) แล้ว ยังต้องมองหาช่องทางหรือรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงหากต้องเผชิญโรคนี้ไปอีก 2-5 ปี ตามที่มีมีคาดการณ์ไว้ รวมถึงวิกฤติอื่นๆ ในอนาคตด้วย
หากถามถึงความเสียหายของเศรษฐกิจไทยและโลก หลังจากต้องเผชิญโควิด-19 ว่ารุนแรงระดับใด ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและ IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ อาจมีแนวโน้มหดตัวสูงถึง -5.3% และ -6.7% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากการที่ไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก ยังรวมถึงมาตรการรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์โควิด

และคาดว่าแนวโน้มหลังจากนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในครึ่งปีหลัง 2563 แต่เป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็เริ่มฟื้นตัว

ทำให้ขณะนี้หลายคนเริ่มมองถึงก้าวต่อไปหลังจากนี้ ธุรกิจอะไรบ้างที่จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร รวมถึงจะมีปัจจัยบวกอะไรที่จะเข้ามาเป็นแรงผลักให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดบ้าง

จากข้อมูลของ “ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน” ได้แบ่งประเภทธุรกิจที่คาดว่าฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติเป็น 3 เลเวล ได้แก่ ฟื้นตัวเร็ว ปานกลาง และช้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานการเปิดประเทศภายในครึ่งปีหลังนี้ มีการเบิกจ่ายงบประมาณ และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว “เร็ว

เริ่มจากกลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้าและโดยสารทั่วไป ทั้งทางบกและทางน้ำ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจไปรษณีย์หรือรับส่งของ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ธุรกิจสุขภาพเชิงการแพทย์และอนามัย

รวมถึงธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ ธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ธุรกิจประกันสุขภาพ และธุรกิจการศึกษาออนไลน์

  • กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว “ปานกลาง

ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ปานกลางนั้น ก็คือ กลุ่มธุรกิจขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำ ธุรกิจโรงแรม ตัวแทนธุรกิจเดินทางหรือนำเที่ยว ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจขายส่งและขายปลีกโดยเฉพาะที่เป็นรายย่อย

รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เช่น ธุรกิจผลิตเครื่องดื่ม กระเบื้อง เครื่องปั้นดินเผา ผลิตภัณฑ์แก้ว เครื่องจักร ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระดาศ เคมีภัณฑ์ เหล็ก ซีเมนต์ คอนกรีต อีกทั้งยังรวมถึงกลุ่มธุรกิจประมง ก่อสร้าง สถาบันการเงิน ธุรกิจประกันภัยหรือประกันอุบัติเหตุ และธุรกิจการศึกษา

159020447626

  • กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว “ช้า

นอกจากนี้ยังมีกล่มธุรกิจที่น่าจับตามองอยู่ 4 ประเภท เนื่องจากคาดว่ากลุ่มธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตช้า ได้แก่ ธุรกิจขนส่งทางอากาศหรือสายการบิน ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิง ธุรกิจรถยนต์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ขณะเดียวกันนั้นยังมีธุรกิจที่ต้องปิดกิจการไปจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจจนาดเล็ก ที่มีสภาพคบ่องไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงพนักงานและธุรกิจได้ ซึ่งบางกลุ่มอาจต้องเผชิญปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ยาก ก็ต้องล้มหายตายจากไปจากวงจรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามช็อตไปในระยะยาว ทุกธุรกิจคงต้องเตรียมปรับตัวรับกับ New Normal ใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ไม่เพียงแต่ด้านการค้า การตลาด และการชำระเงินเท่านั้น เพื่อลดต้นทุนค่าแรง ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการบริการ อย่างในธุรกิจค้าปลีกที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้ต่อยอดจากแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ E-Commerce เช่น ให้ลูกค้าสามารถลอสินค้าผ่านภาพเสมือนจริง ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

อีกหนึ่งสิ่งที่อาจได้เห็นหลังจากนี้ก็คือ ความยาวของห่วงโซ่การผลิตจะลดลง นั่นหมายถึงว่าภาพของการพึ่งพิงการผลิตสินค้าหรือการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งจะลดลง แล้วหันมากระจายการผลิตหรือนำเข้าจากหลายประเทศแทน รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เช่น Robotic, 3D printing, IoT เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันนั่นเอง

อ่านต่อได้ที่ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/881639


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.