ก.อุตฯระดมเครื่องจักรกลดันเกษตรอุตสาหกรรมต่อยอด-สร้างมูลค่าเพิ่ม

31 กรกฎาคม 2563
ก.อุตฯระดมเครื่องจักรกลดันเกษตรอุตสาหกรรมต่อยอด-สร้างมูลค่าเพิ่ม
              ก.อุตฯ ระดมเครื่องจักรกลดันเกษตรอุตสาหกรรม ต่อยอด – สร้างมูลค่าเพิ่ม โชว์แกร่งศูนย์ ITC 4.0 พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการไทย
นายจุลพงษ์  ทวีศรี  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จาก นโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงอุตสาหกรรม ภายในการดำเนินงานของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเร่งการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและการยกระดับภาคการเกษตรไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยที่จำเป็น คือ เครื่องจักรกล ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอุปสรรค์ที่ภาคการเกษตรประสบปัญหา จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “กสอ.” เร่งรัดการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center :ITC 4.0) ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อการให้บริการที่รองรับกับความต้องการของผู้ประกอบการเกษตร จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเยี่ยมชมความพร้อมศูนย์ ITC 4.0 ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก และรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ เพื่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
              นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กสอ. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการปฏิรูปอุตสาหกรรมผ่านการดำเนินงานของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center :ITC 4.0) คือ การให้บริการทดลอง ทดสอบ เพื่อการแปรรูปผลผลิตทางทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรที่มีราคาสูง เพื่อใช้ศึกษาความเป็นไปได้และทดสอบตลาดให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็น "นักธุรกิจเกษตร" ที่เข้มแข็ง
              ปัจจุบันศูนย์ ITC 4.0 ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการรวบรวมเครื่องจักรกลเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการและเกษตรกร อาทิ เครื่องสกัดด่วน (Hi Speed Extractor) เครื่องระเหยเข้มข้น (Falling Film Evaporator) เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) และเครื่องอบแห้งระบบปั้มความร้อน (Heat Pump Dryer) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Design Center) ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย สอดรับความต้องการของตลาดด้วย 
อย่างไรก็ดี การดำเนินงานที่ผ่านมา กสอ. โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 ได้ดำเนินการให้คำแนะนำรวมทั้งสบันสนุนในด้านต่าง ๆ จนกระทั่งเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในธุรกิจจนประสบความสำเร็จ อาทิ นางวิมล ฟักทอง ผู้ประกอบการบริษัท เห็ดดีไลท์ ไทยออร์แกนิค จำกัด อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่ได้แปรรูปเห็ดหูหนูผ่านเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน เพื่ออบเห็ดให้แห้งและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดเจลลี่เฟรช ทำให้รายได้จากการจำหน่ายเห็ดหูหนูแห้งราคา กก.ละ 250 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 500 บาท ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 40,000 บาทต่อเดือน
              และนางรัตนากร แก้วสายัณห์ ผู้ประกอบการผลิตจำหน่าย “กล้วยตากรัตนากร” อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ที่ได้นำหัวปลีมาทดลองแปรรูปเป็นหัวปลีผงอัดแคปซูล สำหรับบำรุงน้ำนมของแม่ลูกอ่อน ด้วยวิธี Spray Dryer เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย ทำให้รายได้จากการจำหน่ายหัวปลีสดเดิม กก.ละ 7 บาท เป็น กก.ละ 850 บาท

อ่านต่อได้ที:https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/443853?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=industry

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.