โควิด-19ดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ยอดขายแตะ1.2แสนล้าน

10 สิงหาคม 2563
โควิด-19ดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ยอดขายแตะ1.2แสนล้าน
                โควิด-19 เป็นโอกาสแก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ หันมาสนใจและใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยอุตสาหกรรม ธุรกิจในไทยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ขยายการเติบโตขึ้น
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าหลังโควิด-19 นี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพมียอดขายถึง 120,000 ล้านบาทโดยเป็นยอดขายจากผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย 20,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 17% มีผู้ผลิต 814 รายและยอดขายจากการนำเข้ามา 100,000 ล้านบาทคิดเป็น 83% มีผู้นำเข้า 4,884 ราย ส่วนมูลค่านำเข้า-ส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ปี 2562 พบว่า มีการนำเข้า 69,746 ล้านบาท และส่งออก 106,358 ล้านบาท
                งานวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าปัจจัยหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยในช่วงปี 2562-2564 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 8.0-10.0% ต่อปี เกิดจากนโยบายรัฐตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Medical Hub และศูนย์กลางส่งออกเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาคภายในปี 2563 ขณะที่การเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของคนไทย โดยเฉพาะจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน อีกทั้ง จำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
                ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น จากความเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาและการเติบโตของกลุ่ม Expatriate และ Medical Tourists และแผนขยายการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลทั้งการสร้างใหม่และการขยายพื้นที่ให้บริการทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
               "โฆษิต กรีพร" กรรมการผู้จัดการบริษัท เวลเมท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร อธิบายว่าประเทศไทยมีกลุ่มนักธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ แอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์จำนวนมาก ทั้งในระดับธุรกิจองค์กรใหญ่ ธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดย่อย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รวมกลุ่มกันทำ กลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร เป็นการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 3 ปี
               ปัจจุบัน “กลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร” มีสมาชิกประมาณ 60 บริษัท ซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกัน เพื่อผลิตสินค้า อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์โดยมีงานวิจัยเป็นฐาน อันนำไปสู่การสร้างมาตรฐานทำให้เครื่องมือทางการแพทย์ ธุรกิจคนไทยได้รับความนิยม และเพิ่มมูลค่ามากขึ้น
               "กลุ่มธุรกิจผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยร่วมกับมหาวิทยาลัย สร้างความร่วมมือ เชื่อมต่อให้ทางอาจารย์ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเชิงลึก สร้างมาตรฐานให้แก่เครื่องมือแพทย์ของคนไทยเทียบเท่ากับนานาชาติ โดยมีงานวิจัยเป็นฐานรองรับ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสแก่อุตสาหกรรมด้านนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ หันมาสนใจและใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยอุตสาหกรรม ธุรกิจในไทยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ขยายการเติบโตขึ้น" โฆษิต กล่าว
                อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยมูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศและส่งออกมีสัดส่วนที่ 30:70 ซึ่งเครื่องมือแพทย์ที่ไทยผลิตส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานเน้นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก จำแนกตามการใช้งาน ดังนี้
1.กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ มีผู้ผลิต 41% อาทิ ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา
2.กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มีผู้ผลิต 23% อาทิ เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย
3.กลุ่มชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค มีผู้ผลิตเพียง 5% ส่วนใหญ่ร่วมทุนกับต่างชาติมาลงทุนในไทย อาทิ น้ำยาตรวจโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับอักเสบ เป็นต้น

อ่านต่อได้ที่ :https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/892737?anf=

แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.