นับหนึ่งแผนไทยแลนด์เฟิรสต์ ไทยสู้จีนหนุนใช้เหล็กในประเทศ

10 กันยายน 2563
นับหนึ่งแผนไทยแลนด์เฟิรสต์ ไทยสู้จีนหนุนใช้เหล็กในประเทศ
ผู้ผลิตเหล็กไทยได้เฮ หลัง ครม.ไฟเขียวปรับเกณฑ์หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ ให้ใช้ local content วัตถุดิบในประเทศ ด้าน ส.อ.ท.ชี้รัฐให้แต้มต่อเหล็กไทยแพงกว่าเหล็กนำเข้าได้ 3% เตรียมเดินหน้าขอขยายเกณฑ์นี้ในโครงการ PPP หวังเพิ่มดีมานด์เหล็กในประเทศโต 10-20% แข่งกับเหล็กนำเข้าจากจีน
นับเป็นเวลา 1 ปี หลังจากที่ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 470 บริษัทขอเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบาย “Thai First” หรือ “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” โดยตั้งเป้าจะใช้กับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม และเป็นแบบอย่างที่ดีในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยของหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ
ล่าสุดนโยบายนี้เริ่มมีความคืบหน้าขึ้นบ้างแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ “หลักการ” เรื่องร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …ในหมวดส่งเสริมพัสดุที่ผลิตในประเทศ เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง
ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ ครม.ดังกล่าวได้ให้ “แต้มต่อ” เหล็กไทยมีราคา “สูงกว่า” เหล็กนอกได้ไม่เกิน 3% ซึ่งทางเอกชนยอมรับว่า เป็นแต้มต่อที่ไม่มากนัก “แต่ก็ยังดีกว่าไม่ให้เลย” ส่วนเหล็กนอกนำเข้า ถ้าขายถูกกว่ามากก็เป็นเพราะมีการทุ่มตลาดหรือมีการอุดหนุน โดยประเด็นนี้เป็นปัญหาค้างคามากว่า 20 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยยังไม่เคยฟ้องตอบโต้การอุดหนุนได้เลย เพราะกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ออกกฎกระทรวง
อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ข้างต้นครอบคลุมเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง-การก่อสร้างโดยหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทั่วไป แต่ไม่ครอบคลุม โครงการก่อสร้างแบบ PPP (public private partnership), โครงการก่อสร้าง infrastructure เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ซึ่งเป็น PPP ดังนั้นก็จะช่วยอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศได้รับประโยชน์บ้าง “ในระดับหนึ่ง” เพราะเดิมผู้ผลิตเหล็กไทยมีการใช้ capacity ประมาณ 30% กว่าเอง (ปี 2562 ใช้ในประเทศ 16-17 ล้านตัน จากกำลังการผลิตทั้งประเทศกว่า 30 ล้านตัน) ถ้ามีโครงการ Thai First มาช่วยก็น่าจะขยับกำลังผลิตขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่ง
ขณะที่นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล (มหาชน) กล่าวว่า มติ ครม.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศที่ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อไว้กับ ส.อ.ท. โดยกำหนดให้
1) ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้สำหรับงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น
แต้มต่อไทยราคาสูงกว่า 3%
2)กรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีผู้เสนอราคาแข่งขันกันระหว่างไทยกับผู้เสนอราคาต่างชาติ หากนิติบุคคลตามกฎหมายไทยหรือบุคคลถือสัญชาติไทยเสนอราคา “สูงกว่า” ไม่เกิน 3% ให้ซื้อหรือจ้างจากผู้เสนอราคาฝ่ายไทยรายนั้น
ทั้งนี้ข้อเสนอ local content ดังกล่าวนับเป็นความพยายามของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ได้เสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2562 กระบวนการต่อจากนี้ก็คือ กระทรวงการคลังจะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการจัดซื้อจัดจ้างเสียก่อนจึงจะสามารถกำหนดเงื่อนไข local content ไว้ในสัญญาโครงการก่อสร้างได้ ส่วนจะกำหนดถึงขั้นว่าต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทย 100% หรือไม่นั้น “ผมว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น”
โดยคำนิยามที่จะอยู่ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง น่าจะตีความว่า เป็นสัญชาติใดก็ได้ที่ลงทุนในไทยก็ถือว่าผลิตในประเทศไทย ถือว่านโยบาย Thai First สอดรับกับนโยบาย Made in Thailand ของ ส.อ.ท.ที่กำลังจะออกตามมา ทางกรมบัญชีกลางมีมติว่า เมื่อมีประกาศออกมาแล้วในส่วนของหลักเกณฑ์ว่าสินค้าใดเป็น Made in Thailand หรือไม่ก็จะมอบอำนาจให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกใบรับรองให้ผู้รับเหมา
“ที่คุยคร่าว ๆ ก็คือ จะกำหนดให้มี local content ภายในประเทศ 40% เช่น เหล็กเส้นก็ควรมีการใช้ local content รวมวัตถุดิบ ค่าแรง ต้องไม่น้อยกว่า 40% ถ้าพิสูจน์ได้”
Local Content โครงการ PPP
นายประวิทย์กล่าวถึงงานของบริษัท มิลล์คอน สตีล ในปัจจุบันว่ามีสัดส่วนงานของภาครัฐอยู่ประมาณ 70-80% ซึ่งการได้ local content ส่วนนี้จะสามารถผลักดันให้ยอดขายโต 10-20% อาทิ โครงการก่อสร้างถนน ทางด่วน และมอเตอร์เวย์จากกรมทางหลวง ที่เป็นงานก่อสร้างหลัก นอกจากงานโครงการภาครัฐแล้ว บริษัทยังหวังที่จะได้งานจากโครงการก่อสร้างแบบ PPP ด้วย โดยเฉพาะงานสาธารณูปโภค
ยกตัวอย่างโครงการที่ใช้เหล็กของมิลล์คอน เช่น โครงการ One Bangkok รัฐสภาเกียกกายและอาคารสำนักงานภาครัฐ, โครงการมอเตอร์เวย์, โครงการรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่ เป็นต้น
นอกจากนี้มีรายงานข่าวเข้ามาว่า กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กได้ยื่นข้อเสนอกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อขอให้ติดตามผลการพิจารณาเรื่อง local content ในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยได้ประมาณการใช้เหล็ก
ในโครงการ PPP ซึ่งหากผ่านการอนุมัติเช่นเดียวกับโครงการของรัฐ ก็จะมีถึง 10 โครงการ ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างรวมกันประมาณ 3-4 ล้านตัน ประกอบไปด้วย 1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาท ปริมาณการใช้เหล็ก 900,000 ตัน 2) รถไฟไทย-จีน มูลค่า 179,412 ล้านบาท ใช้เหล็ก 800,000 ตัน 3) ท่าเรือแหลมฉบังมูลค่า 155,834 ล้านบาท ใช้เหล็ก 750,000 ตัน 4) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 122,067 ล้านบาท ใช้เหล็ก 430,000 ตัน
5) มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ มูลค่า 60,715 ล้านบาท ใช้เหล็ก 340,000 ตัน 6) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 50,340 ล้านบาท ใช้เหล็ก 190,000 ตัน 7) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 46,990 ล้านบาท ใช้เหล็ก 180,000 ตัน 8) โครงการมอเตอร์เวย์บางขุนนนท์-บ้านแพ้ว มูลค่า 32,643 ล้านบาท ใช้เหล็ก 170,000 ตัน 9) สนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 10,588 ล้านบาท ใช้เหล็ก 60,000 ตัน และ 10) ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่า 10,154 ล้านบาท ใช้เหล็ก 60,000 ตัน
“บางโครงการเริ่มก่อสร้างกันไปแล้ว ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศก็ส่งเหล็กเข้าโครงการผ่านทางตัวแทนจำหน่าย แต่มันเป็นส่วนน้อย ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นโครงการที่บริษัทจีนประมูลได้ไป เขาแทบจะไม่ใช้เหล็กไทยเลย แต่ทุกอย่างนำเข้าจากจีนหรือประเทศเพื่อนบ้านที่จีนเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอยู่ ชิ้นส่วนผลิตในจีนเป็นชิ้น ๆ แล้วนำเข้ามาประกอบในไทย หรือไม่ก็กำหนดสเป็กที่ไม่มีการผลิตเหล็กแบบนี้ในประเทศ ทั้ง ๆ ที่เกินความจำเป็น แต่ถ้ามีการกำหนดสัดส่วนให้ใช้เหล็กภายในประเทศในโครงการ PPP ก็จะช่วยในอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศโตเพิ่มขึ้น”

อ่านต่อได้ที่:https://www.prachachat.net/economy/news-519103

แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.