กลุ่มเหล็กไทยลุ้น“ไบเดน”ลดอุณหภูมิสงครามการค้า

17 พฤศจิกายน 2563
กลุ่มเหล็กไทยลุ้น“ไบเดน”ลดอุณหภูมิสงครามการค้า
ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาได้ผู้นำคนใหม่ คือ “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ซึ่งจะรับตำแหน่งในเดือนม.ค.ปีหน้า ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงมีความคาดหวังว่าสงครามการค้าเหล็กโลก น่าจะลดระดับความรุนแรง

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กส.อ.ท. เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง จนทำให้ความต้องการใช้เหล็กรวมของโลกในปี 2563 ถดถอยลง โดยคาดว่าจะเหลือ 1,725.1 ล้านตัน ลดลง 2.4% จากปี 2562 แต่ถ้าไม่รวมประเทศจีนซึ่งมีปริมาณความต้องการใช้เหล็กปี 2563 เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2562 ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะถดถอยลง -13.3%

สงครามการค้าเหล็กโลกที่รุนแรงมากในระยะหลังนี้มาจากการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กจากประเทศจีน และการตอบโต้จากอเมริกาโดยประธานาธิบดีทรัมป์ใช้มาตรการ Section 232 อ้างความมั่นคงแห่งชาติ กำหนดเพิ่มอากรนำเข้า 25% ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการรุนแรงสุดต่อสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2561

จนเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ สหภาพยุโรป หรืออียู ต้องออกมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) สินค้าเหล็กจำนวน มากถึง 28 รายการ ตั้งแต่ต้นปี 2562 และอีกหลายประเทศทั่วโลกพากันใช้มาตรการทางการค้าต่างๆอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ

ในขณะที่ประเทศไทยในช่วงปี 2562-2563 กลับยกเลิกมาตรการ Safeguard สินค้าเหล็ก 2 รายการ โดยยังมีช่องโหว่ไม่สามารถใช้บังคับการตอบโต้การหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด (Anti Circumvention) ได้ อันเป็นสาเหตุให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยถดถอยจนตกอยู่ในภาวะวิกฤติลการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ลดเหลือเพียง 30% เท่านั้น จากกำลังการผลิตรวม 23 ล้านตันต่อปี

สำหรับประเด็นที่นานาประเทศกำลังจับตามองว่า ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ว่าที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” จะดำเนินการนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าโลกอย่างไรและคาดหวังว่าอาจมีการยกเลิกมาตรการ Section 232 กับสินค้าเหล็กนำเข้าหรือไม่

นายนาวา กล่าวว่า ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนเคยแถลงนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้งไว้ชัดเจนว่าจะยกระดับนโยบาย “Buy American” ที่อเมริกาดำเนินการอยู่แล้ว ให้เป็น “Made in All of America” โดยคนงานทั้งหมดของอเมริกา โดยเปรียบเทียบว่าภาคอุตสาหกรรมของอเมริกาเคยเป็นเสมือนคลังสรรพาวุธของฝ่ายประชาธิปไตยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเขาต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมของอเมริกายังคงเป็นคลังสรรพาวุธของความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันด้วย เพื่อเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสำหรับครอบครัวที่ต้องทำงาน

ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะมีการลงทุนอย่างมากเป็นประวัติการณ์ จะต้องใช้เหล็กที่ผลิตในอเมริกาอย่างเข้มงวด อีกทั้งว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ไม่เคยหาเสียงว่าจะยกเลิกมาตรการ Section 232 ต่อสินค้าเหล็ก แต่เน้นว่าจะให้ความสำคัญต่อการทำงานร่วมกันกับประเทศพันธมิตรเพื่อปฏิรูปกฎการค้าระหว่างประเทศ

“ดังนั้น เชื่อว่าคงยากที่อเมริกาจะยกเลิกมาตรการ Section 232 ต่อสินค้าเหล็กนำเข้าทั้งหมด”

เพราะอาจกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็ก ที่การใช้กำลังการผลิตที่เคยขึ้นไปสูงสุดกว่า 80% หลังมีการใช้มาตรการ Section 232 แต่อาจจะมีการทบทวนสร้างสมดุลในการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในอเมริกา โดยใช้มาตรการที่ผ่อนปรนหรือมีการเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเจรจาขอยกเว้นอากรตาม Section 232 ในการส่งออกสินค้าเหล็กไปอเมริกา ซึ่งเคยมีปริมาณมากกว่า 4 แสนตันต่อปี ก่อนมีSection 232แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงราว 167,000 ตันต่อปีเท่านั้น

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.ยังได้เสนอภาครัฐพิจารณาดำเนินการ 3 มาตรการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศไทย ได้แก่ 1.ส่งเสริมการใช้สินค้า “Made in Thailand” 2.ตอบโต้การหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด (Anti-Circumvention) สินค้าเหล็กนำเข้า และ 3.คัดกรองห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กที่ใช้เทคโนโลยีตกยุค

นายนาวา กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากมาตรการต่างๆที่ภาครัฐได้สนับสนุนแล้ว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กยังได้พัฒนาตนเองมาโดยตลอด ทั้งการควบคุมต้นทุน การใช้เทคโน-โลยีใหม่ๆมาปรับปรุงกระบวนการผลิต การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในไทยมีส่วนสร้างความเจริญของประเทศชาติ.

อ่านต่อได้ที่:https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1977476


แหล่งที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.