ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมฯ อาเซียน-UK ส่งเสริมความร่วมมือศก.-การค้า-ลงทุน 11 สาขา

14 กันยายน 2564
ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมฯ อาเซียน-UK ส่งเสริมความร่วมมือศก.-การค้า-ลงทุน 11 สาขา

          น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคต ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (สหราชอาณาจักร) ซึ่งจะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 ในวันที่ 15 กันยายนนี้ โดยประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

          ปฏิญญาร่วมฯ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยมีสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 11 ด้าน ได้แก่ 1)การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 2)การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาเซียน-สหราชอาณาจักร และการคงไว้ซึ่งการเปิดตลาด 3)ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียบ 4)นวัตกรรมดิจิทัล 5)การให้บริการทางการเงิน 6) การเติบโตอย่างยั่งยืน 7)โครงสร้างพื้นฐาน 8)ทักษะและการศึกษา 9)การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 10)การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี และ 11)การเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน

          สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะขับเคลื่อนภายใต้โครงการและกิจกรรม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสนใจและประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนและสหราชอาณาจักร โดยมีโครงการสนับสนุนทางการเงินที่สหราชอาณาจักรได้ผูกพันให้กับอาเซียนแล้วเป็นพื้นฐานในการดำเนินการและต่อยอด และเกื้อหนุนการดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ ของอาเซียน เช่น แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) และแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน ปี ค.ศ.2016-2025 (พ.ศ.2559-2568)

          น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำปฏิญญาร่วมฯ ครั้งนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำให้อาเซียนสามารถรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าในด้านต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ ที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย


อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3C5fh9g


แหล่งที่มา : RYT9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.