ผ่าเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4 ปี 2566 “สงคราม” จุดปะทุความเสี่ยง

22 กุมภาพันธ์ 2567
ผ่าเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4 ปี 2566 “สงคราม” จุดปะทุความเสี่ยง

ผ่าเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เเต่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ยังเป็นตัวจุดปะทุความเสี่ยง

เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคบริการและตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ และจีน

การฟื้นตัวดีขึ้นของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับช่วงขาขึ้นของยอดขาย "เซมิคอนดักเตอร์" และคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกของหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) และกลุ่มประเทศอาเซียนเริ่มกลับมาขยายตัว

ในช่วงไตรมาสที่ 4 สถานการณ์ ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และทำให้ "เงินเฟ้อ" ในหลายประเทศทรงตัวในระดับสูงกว่าเป้า ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไป

เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ขยายตัวร้อยละ 3.1 (Advance Estimate) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส จากการเร่งขึ้นของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากมูลค่าการค้าปลีกที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง

 การลงทุนภาคเอกชนในสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ภาคที่อยู่อาศัย (Non-residential investment) ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในภาคที่อยู่อาศัยเริ่มทรงตัว หลังการลดลงติดต่อกัน 7 ไตรมาส

สำหรับอัตราเงินเฟ้อวัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE price index) ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง

สหรัฐฯ ยังเผชิญกับการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลงจากระดับ Stable เป็น Negative เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2566

เมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.3 เทียบกับร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ saar.) รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในปีก่อน

เศรษฐกิจยูโรโซน

ขยายตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย "เศรษฐกิจเยอรมนี" ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 0.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) ขณะที่ประเทศสมาชิกหลักอื่น ๆ ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ จากการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 43.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 50.0 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.4 ต่ ากว่า 50.0 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 11 ไตรมาส ตามการชะลอตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศ จากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางยุโรป และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

ในไตรมาสที่ 4 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวจนส่งผลต่อระดับค่าจ้าง ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง10 ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยังคงดำเนินมาตรการ Next Generation EU เพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงาน รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.5 ชะลอลง ร้อยละ 3.4 ในปี 2565

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สาม ตามการลดลงของการบริโภคภายในประเทศเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการส่งออกยังคงลดลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 48.3 ต่ำกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ที่ร้อยละ 0.7 ต่อเนื่อง

จากการลดลงร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลทั้งสิ้น 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 20.6 จากร้อยละ 17.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ในปี 2566 กลับมาขยายตัว ร้อยละ 19.8 นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงตึงตัวจากภาวะขาดแคลนแรงงาน  รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 ถือเป็นการปรับขึ้นในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้อัตราค่าจ้างที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นแต่เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.9 ส่งผลให้อัตราค่าจ้างที่แท้จริงยังคงลดลงร้อยละ 2.2

ท่ามกลางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้มีปรับมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี กำหนดขอบบนของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ร้อยละ 1.0 แทนการกำหนดช่วงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ±0.5 เพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 1.0 ในปีก่อนหน้า

เศรษฐกิจจีน

ขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและภาคบริการ ประกอบกับการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ยอดการค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 8.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการอยู่ที่ระดับ 51.6 สูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4  ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.5

เมื่อพิจารณาภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกสินค้าพบว่าเริ่มปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 9.9 ในไตรมาสก่อนหน้า จากมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.7 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ เป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 256612

แต่การลงทุนภายในประเทศยังคงลดลงร้อยละ 12.1 เป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส โดยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 16.5 ลดลงต่อเนื่องกัน 7 ไตรมาส ส่งผลให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China: PBOC) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและป้องกันเข้าสู่ "ภาวะเงินฝืด" โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่สี่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ (-0.3) ต่อเนื่องจากร้อยละ (-0.1) ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 57 ไตรมาส

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 5.2 สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 5.0 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในปี 2565

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs)

ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยเฉพาะในหมวด "สินค้าเซมิคอนดักเตอร์" สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตอุตสาหกรรม

โดย "เศรษฐกิจเกาหลีใต้" และ "เศรษฐกิจสิงคโปร์" ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ที่ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วน "เศรษฐกิจฮ่องกง" และ "เศรษฐกิจไต้หวัน" ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส ที่ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.1 และร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและค่าขนส่ง ส่งผลให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 1.1 ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.8 ร้อยละ 2.6 และร้อยละ 2.6 จากปี 2565  ขณะที่ เศรษฐกิจฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 3.2 ฟื้นตัวจากการลดลงร้อยละ 3.5 ในปี 2565

เศรษฐกิจประเทศกลุ่มอาเซียน ส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่องตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า โดย เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 6.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.9 ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 5.5 ในไตรมาส ก่อนหน้า

ส่วน "เศรษฐกิจฟิลิปปินส์" ขยายตัวร้อยละ 5.6 เทียบกับร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของหลายประเทศส่วนใหญ่เริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลให้ ธนาคารกลางมาเลเซียและเวียดนาม ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่วน ธนาคารกลางอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามขยายตัวร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.7 ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 5.0ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.3 ร้อยละ 8.7 ร้อยละ 7.6 และร้อยละ 8.0 ในปี 2565


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.