กลยุทธ์ ‘โดดเดี่ยวจีน’ เห็นผล FDI โตต่ำสุดรอบ 30 ปี

22 กุมภาพันธ์ 2567
กลยุทธ์ ‘โดดเดี่ยวจีน’ เห็นผล FDI โตต่ำสุดรอบ 30 ปี
กระแสการลดความเสี่ยงจากจีน และการแยกตัวออกจากจีนของสหรัฐ และพันธมิตร เริ่มเห็นผล เมื่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี บ่งชี้ บริษัทต่างชาติกำลังดึงเงินออกจากจีน ย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

หนึ่งในกระแสเศรษฐกิจโลกที่มาแรง และชัดเจนที่สุดในช่วง 1-2 ปีมานี้ก็คือ กระแสการลดความเสี่ยงจากจีน (De-risk) และการแยกตัวออกจากจีน (Decoupling) ที่เริ่มมาจากฝั่งสหรัฐ และขยายไปถึงประเทศพันธมิตรของสหรัฐด้วย

แนวคิดเรื่อง Decoupling เคยถูกตั้งคำถามในช่วงแรกๆ ว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ในเมื่อยังไม่มีประเทศใดที่มีความพร้อมเรื่องห่วงโซ่อุปทานอย่างเต็มรูปแบบเหมือนกับจีน แต่ในระยะหลังโลกก็เริ่มเห็นตัวเลือกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่น เวียดนาม ที่ค่อยๆ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่จากต่างชาติ สวนทางกับจีนที่ค่อยๆ เห็นตัวเลขการลงทุนที่เบาบางลง

ล่าสุดตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา บ่งชี้ชัดเจนแล้วว่า กลยุทธ์การร่วมกันโดดเดี่ยวจีนกำลังเห็นผล เมื่อเม็ดเงินลงทุนเอฟดีไอในจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งเป็นยุคที่จีนกำลังมุ่งสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจในยุคของเจียง เจ๋อหมิน

ที่สำคัญหากเทียบกับตัวเลขการลงทุนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า จีนมีปริมาณเอฟดีไอในหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์ ขึ้นไปมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา จนขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.44 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่การลงทุนพุ่งทะยานหลังจากอั้นมาในยุคโควิด-19

แต่ในปีที่แล้ว เม็ดเงินการลงทุนจากข้อมูลของสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) กลับซบเซาลงหนักเหลือเพียง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้าถึง 82% และยังเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ที่เม็ดเงินลงทุนตรงของต่างชาติในจีนไม่ถึงหลักแสนล้าน

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ของกำไรบริษัทต่างชาติ และการเปลี่ยนแปลงขนาดการดำเนินงานในจีนได้อีกด้วย ซึ่งตัวเลขเอฟดีไอที่ตกต่ำในจีนยังสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนว่า กำไรของบริษัทต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อปีที่แล้ว ปรับตัวลงถึง 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน

บลูมเบิร์ก ระบุว่าความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งที่จะดึงดูดบริษัทต่างชาติให้กลับเข้ามาอีกครั้งหลังโควิดคลี่คลายนั้นยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีพอ ตัวเลขเอฟดีไอที่อ่อนแอตอกย้ำถึงการที่บริษัทต่างชาติกำลังดึงเงินออกจากจีน เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และไปตามอัตราดอกเบี้ยในประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

ไม่ใช่แค่ตะวันตก เพื่อนบ้านแห่ลดลงทุนในจีน

สำหรับบรรษัทข้ามชาติแล้วการถือเงินสดในต่างประเทศน่าดึงดูดมากกว่าในจีน เพราะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีการขึ้นดอกเบี้ยกันไปบ้างแล้วสวนทางกับจีนที่ยังต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อราว 2 ปีก่อน

ผลสำรวจความเห็นบริษัท “ญี่ปุ่น” ในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ต่างลดการลงทุนในจีนหรือคงระดับการลงทุนเท่าเดิม และบริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่คิดว่าแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 นี้

บริษัทญี่ปุ่นยังเพิ่มเม็ดเงินลงทุนใหม่ในจีนเมื่อปีที่แล้วต่ำสุดในรอบ 10 ปีเป็นอย่างน้อย โดยอยู่ที่เพียง 2.2% เท่านั้น และที่สำคัญคือ ยังเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนใน “เวียดนาม” และ “อินเดีย”

ขณะที่ “ไต้หวัน” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชะลอการลงทุนใหม่ในจีนเมื่อปีที่แล้ว จนฉุดเอฟดีไอจากไต้หวันลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2001 ทั้งที่จีนเป็นแหล่งการลงทุนรายใหญ่ของไต้หวันมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการกระทบกระทั่งทางการเมืองกันมาประปรายก็ตาม

ด้าน “เกาหลีใต้” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนใหม่ในจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปีที่แล้ว โดยเฉพาะในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการลงทุนใหม่ของเกาหลีใต้นั้นปรับตัวลดลงมากถึง 91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 และกลายเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

สัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘เยอรมนี’ ยังแนบแน่น

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะโดดเดี่ยวจีน อย่างน้อยก็ในเชิง “เศรษฐกิจ และการค้า” เพราะข้อมูลจากธนาคารบุนเดสแบงก์พบว่า ตัวเลขการลงทุนตรงของ “เยอรมนี” กลับพุ่งสูงสุดทุบสถิติใหม่เกือบ 1.2 หมื่นล้านยูโร (ราว 4.68 หมื่นล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.3% ขณะที่สัดส่วนของจีนเมื่อเทียบกับเอฟดีไอรวมทั้งหมดของเยอรมนียังเพิ่มเป็น 10.3% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 อีกด้วย

ข้อมูลนี้สะท้อน และตอกย้ำความกังวลของบริษัทสัญชาติเยอรมัน ที่ไปคนละทิศคนละทางกับรัฐบาลของตนเอง ที่พยายามขอให้ภาคเอกชนเยอรมนีลดความเสี่ยงออกจากจีนทั้งในแง่ของการลงทุนเดิม และเม็ดเงินลงทุนใหม่


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.