ส่อง 'อัตราใช้กำลังผลิตไทย' ต่ำกว่าช่วงโควิด19 สัญญาณฉุดเศรษฐกิจ-การลงทุน

03 มีนาคม 2567
ส่อง 'อัตราใช้กำลังผลิตไทย' ต่ำกว่าช่วงโควิด19 สัญญาณฉุดเศรษฐกิจ-การลงทุน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจหากกำลังการผลิตขยายตัวมากขึ้นจะทำให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มทั้งเครื่องจักร และการจ้างงานเพิ่ม
  • กำลังการผลิตของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 59.06% ต่ำกว่าช่วงโควิด และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 
  • มีหลายอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 30 - 40% 
  • อัตรากำลังการผลิตที่ต่ำจะกระทบต่อการลงทุน และเศรษฐกิจในอนาคต
  • "สภาพัฒน์" ชี้แนวทางแก้ปัญหากำลังการผลิตตกต่ำโดยปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและส่งออกสินค้า ควบคู่ปรับโครงสร้างการผลิต และเร่งรัดการลงทุน

เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้เพียง 1.9% ในปี 2566 เกิดจากหลายปัจจัยที่เป็นปัญหาสั่งสมในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน แต่ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 คืออัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ไม่ได้เติบโตเพิ่มขึ้นแม้การส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะกระทบกับการลงทุนของภาคเอกชน และจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้

การใช้กำลังการผลิตตัวเลขชี้วัดอนาคตเศรษฐกิจ

อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate) หรือ “CAP-U” เป็นเครื่องชี้ระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบการผลิตจริงกับกำลังการผลิตสูงสุดหรือศักยภาพ ของเครื่องจักร ณ ช่วงเวลาหนึ่ง โดยเป็นค่าร้อยละ (%)โดยความสำคัญของอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มแตกต่างกันตามสัดส่วนค่าถ่วงน้ำหนักของแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งสามารถชี้วัดภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนเพิ่มเติมของภาคอุตสาหกรรม

หากอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงในระดับเกิน 70 - 80%  ก็จะพิจารณาลงทุนเพิ่มซึ่งอาจหมายถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น หรือการนำเข้าเครื่องมือและเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

ทั้งนี้ในรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 และภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ของ สศช.พบว่า ข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate :) ของไทยจัดทำและเผยแพร่โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งจำแนกหมวดสินค้าอุตสาหกรรมตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ครอบคลุมจำนวน 21 สาขา 70 กลุ่มอุตสาหกรรม 119 ผลิตภัณฑ์  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นเครื่องชี้ที่แสดงถึงการใช้กำลังการผลิตทั้งในระดับรายผลิตภัณฑ์ รายอุตสาหกรรม และในภาพรวมของประเทศ

การใช้กำลังผลิตต่ำกว่าโควิด

ในปี 2566 อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยอยู่ที่59.06% ต่ำกว่า 62.76% ในปี 2565 ต่ำกว่า 60.26% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 และต่ำกว่า 64.08% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565)

โดยเมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 30% จำนวน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระหว่าง 30-50% จำนวน 28 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระหว่าง 50-70% จำนวน 28 กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 70% จำนวน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม และเมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1.กลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30%) อยู่ที่ 65.60% ต่ำกว่า 66.99% ในปี 2565 ต่ำกว่า 67.66% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 และต่ำกว่า 69.24% ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่สูง ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปีโตรเลียม (84.67%) การผลิตพลาสติก และยางสังเคราะห์ขั้นต้น (82.66%) และการฆ่าสัตว์ปีกและการผลิต เนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (80.98%) ตามลำดับ

ส่วนอัตราการใช้ กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (41.72%) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป (48.38%) และการผลิตน้ำมันปาล์ม (48.50%) ตามลำดับ

เปิดข้อมูลสินค้าใช้กำลังการผลิตต่ำ

2.กลุ่มการผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 30-60% อยู่ที่ 59.08% ต่ำกว่า 62.77% ในปี 2565 และต่ำกว่า 62.35% ค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565) แต่สูงว่า 53.41% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่สูง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ (71.60%) การผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยางและการซ่อมสร้างยาง (65.68%) และการผลิตจักรยานยนต์ 63.34% ตามลำดับ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก (27.95%) การผลิตน้ำตาล (38.3%) และการผลิตสบู่และสารซักฟอกฯ (56.56%) ตามลำดับ

และ 3.กลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่า 60%) อยู่ที่ 48.89% ต่ำกว่า 56.21% ในปี 2565 และต่ำกว่า 55.64% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 และต่ำกว่า 57.82% ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่สูง ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (66.33%) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (59 .82%) และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน (56.92%) ตามลำดับ

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (44.12%) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ยกเว้น ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) (32.78%) และการผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยแท้และ สิ่งของที่เกี่ยวข้อง (34.93%) ตามลำดับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการที่เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด โดยสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงถึง 3.2% เทียบกับการขยายตัว 0.7% ในปี 2565 ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สศช.เสนอแก้ปัญหาการใช้กำลังการผลิตต่ำ

ทั้งนี้ สศช.มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาการใช้กำลังการผลิตของไทยที่ลดลงโดยต้องขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น สินค้า ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจาก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า

ขณะเดียวกันควรเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ประกอบการสินค้าที่มีสัญญาณการลดลงของความต้องการในตลาดโลกและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำต่อเนื่องพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและการส่งออกสินค้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่สามารถหลีกเยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถปรับตัวสู่ภาคการผลิตในอนาคต

เร่งรัดการลงทุนให้เกิดจริง

ขณะเดียวกันต้องเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 – 2566 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดอนุมัติโครงการที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสามารถเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะ โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนใหม่

นอกจากนี้ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.