ย้อนรอยวิกฤตอสังหาฯ จีน กับ นัยต่อเศรษฐกิจไทย

01 มีนาคม 2567
ย้อนรอยวิกฤตอสังหาฯ จีน กับ นัยต่อเศรษฐกิจไทย
การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ภาคอสังหาฯ จีนสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจีนอยู่พอสมควร เห็นได้ชัดจากที่หลายฝ่ายออกมาหั่นเป้าเศรษฐกิจจีนปีนี้ให้โตได้ไม่ถึง 5% จากเดิมที่เคยเติบโตอย่างร้อนแรงเฉลี่ย 7-8%

ช่วงที่ผ่านมา กระแสการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ภาคอสังหาฯ จีนสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจีนอยู่พอสมควร เห็นได้ชัดจากที่หลายฝ่ายออกมาหั่นเป้าเศรษฐกิจจีนปีนี้ให้โตได้ไม่ถึง 5% จากเดิมที่เคยเติบโตอย่างร้อนแรงเฉลี่ย 7-8% ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนถูกขับเคลื่อนจากการลงทุนและภาคอสังหาฯ จากสัดส่วนการลงทุนโดยรวมของจีนสูงถึง 40% ของจีดีพีมาโดยตลอด ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วยกันที่ประมาณ 20% ของจีดีพี จึงไม่แปลกที่ตลาดอสังหาฯ จะเป็นเหมือนตัวชี้นำอนาคตของเศรษฐกิจจีน 

ขอเล่าย้อนถึงที่มาของภาคอสังหาฯ จีนคร่าว ๆ เริ่มมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลพวงของวิกฤตการเงินโลกปี 2550 เนื่องจากจีนพึ่งพารายได้จากการส่งออกค่อนข้างสูงหลังเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้ในปี 2551 ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงถึง 5.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 12% ของจีดีพี เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการสร้างเมืองใหม่ รวมไปถึงการให้เงินอุดหนุนในโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินในช่วงเวลานั้นก็ลดความเข้มงวดลง กอปรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับยอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯ ที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ทำให้ยอดคงค้างเงินกู้ในภาคอสังหาฯ ที่มาจากภาคธนาคารทั้งในส่วนของผู้พัฒนาอสังหาฯ (Pre-finance) และภาคครัวเรือน (Post-finance) ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนสูงถึง 25% ของเงินกู้จากภาคธนาคารทั้งหมด

ทว่า สัญญาณการเก็งกำไรในภาคอสังหาฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จากราคาขายที่อยู่อาศัยในเมืองที่เป็น Tier1 (เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น) ที่สูงกว่าเท่าตัวติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี จนทำให้ทางการจีนต้องออกมาตรการควบคุมตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ การกำหนดให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องเพิ่มเงินวางหลักประกันสำหรับการประมูลที่ดินตามหัวเมืองหลัก การเพิ่มข้อจำกัดในการซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีชื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่หรือผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่สองหรือสาม ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาฯ เริ่มชะลอตัวลง อีกทั้งยังเป็นแรงกดดันให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องปรับโครงสร้างหนี้เดิมเพื่อให้เข้าเกณฑ์ของภาครัฐ เช่น การเร่งขายที่ดินในราคาต่ำกว่าตลาด หรือหยุดการดำเนินโครงการอสังหาฯ บางแห่งเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัท 

ยิ่งกว่านั้น กลางปี 2563 ธนาคารกลางจีนได้ออกกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า “สามเส้นแดง” (Three Red Lines) ซึ่งเป็นการกำหนดให้บริษัทอสังหาฯ ควบคุมปริมาณหนี้ให้สอดคล้องกับ 1) กระแสเงินสด 2) สินทรัพย์ และ 3) ระดับทุนของบริษัท ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาฯ เกือบทั้งหมดไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนภายในกิจการได้ จึงทำให้บางส่วนหันไประดมทุนผ่านตลาดการเงินช่องทางอื่น ๆ ทดแทน เช่น การระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ การกู้ยืมผ่านธนาคารเงา รวมถึงการกู้ยืมจากต่างประเทศ เป็นต้น

“วิกฤตโรคระบาดโควิด-19” เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้สถานการณ์อสังหาฯ จีนย่ำแย่ลง จากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ ขณะที่กำลังซื้อของชนชั้นกลางถึงบนก็ได้รับผลกระทบจากความมั่งคั่งของประชาชนลดลง (Wealth Effect) ตามการปรับลดลงของราคาอสังหาฯ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาฯ เผชิญปัญหาทางการเงินหนักหน่วงขึ้นจากยอดขายที่อยู่อาศัยที่ซบเซาลงอย่างมาก ซ้ำเติมภาวะขาดสภาพคล่องที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้ในปี 2566 หุ้นกู้ของบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่พร้อมใจกันผิดนัดชำระหนี้รวมกันมากถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ในปัจจุบันทางการจีนต้องออกมาตรการช่วยเหลือทางการคลังและการผ่อนคลายนโยบายการทางเงินออกมาเพื่อพยุงตลาดอสังหาฯ อาทิ การปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LPR) การออกมาตรการสินเชื่อเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาฯ เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ หลายคนมองว่า แล้ววิกฤตอสังหาฯ จีนจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน? ต้องบอกว่าส่งผลกระทบอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพากำลังซื้อจากจีนสูง ประเด็นแรกหนีไม่พ้น ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนและการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน ซึ่งส่งผลพวงมายังเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไทยเคยสูงสุดราว 11 ล้านคนในปี 2562 หรือคิดเป็นประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่กลับพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไทยมีเพียง 3.5 ล้านคนในปี 2566 หรือฟื้นตัวเพียง 32% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในภาพรวมที่ 70%

ภาคการค้าไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนราว 12% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยตัวเลขมูลค่าส่งออกไทยไปจีนในปี 2566 หดตัว 0.8%YoY หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งผลกระทบจากกำลังซื้อของชาวจีนที่ชะลอตัวลงกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงสินค้าวัตถุดิบหลักที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ อย่างเช่นเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ซึ่งไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 อีกมุมหนึ่ง ไทยยังได้รับผลทางอ้อมจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกผันผวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดิบ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ถ่านหิน และทองแดง เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายสำคัญของโลก 

นอกจากผลกระทบทางตรงแล้ว ผลกระทบทางอ้อมที่ส่งผ่านมายังตลาดการเงินของไทย จากความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัทอสังหาฯ เพิ่มเติมเป็นทอด ๆ แบบ Domino Effect กดดันราคาหุ้นกู้อสังหาฯ ให้ปรับตัวลดลงจากความเชื่อมั่นเชิงลบต่อตลาดตราสารหนี้จีน อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวในระยะยาว ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและค่าเงินหยวน กระทบต่อพอร์ตของผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยอยู่ไม่น้อย

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คงเป็นเรื่องของการหันมาลงทุน (เก็งกำไร) จากตลาดอสังหาฯ ในบ้านเรามากขึ้น โดยชาวจีนสนใจลงทุนอสังหาฯ ในต่างประเทศมากขึ้นจากตลาดในประเทศที่ชะลอตัว โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ในเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่พบว่าบุคคลสัญชาติจีนมีส่วนแบ่งยอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ถือครองโดยชาวต่างชาติสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 มาตลอด 5 ปีล่าสุด หรือ คิดเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์กว่า 3.4 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากช่องว่างด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนอสังหาฯ ในไทยที่เอื้อให้ชาวต่างชาติเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯ กับผู้พัฒนาไทย ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาและผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าที่ค่อนข้างน่าดึงดูด เหล่านี้นอกจากจะทำให้ราคาอสังหาฯ ในไทยปรับตัวสูงขึ้นเกินจริงแล้ว ยังอาจหมายถึงเม็ดเงินลงทุนที่ไม่ยั่งยืนจากการแสวงหากำไรในระยะสั้นอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่า กลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาฯ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อจีนมีการสะสมทุนมากขึ้นจนเริ่มมีขนาดใหญ่และเกินความต้องการเมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจจริง จึงส่งผลกระทบต่อการลงทุนและเศรษฐกิจจีนโดยรวม ดังนั้น ไทยอาจต้องรับมือกับกำลังซื้อจีนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะยาวจากการฟื้นตัวที่แผ่วบางของเศรษฐกิจจีน ซึ่งสะท้อนภาพความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.