หนี้ครัวเรือน-เศรษฐกิจฟื้นช้า กดดัชนีผลผลิตอุตฯ ม.ค.หด 2.94%

03 มีนาคม 2567
หนี้ครัวเรือน-เศรษฐกิจฟื้นช้า กดดัชนีผลผลิตอุตฯ ม.ค.หด 2.94%
  • "สศอ." เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัว 2.94% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 59.43%
  • เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงดันต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ผู้ประกอบการเพิ่ม
  • ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนก.พ. 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัว 2.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.43% จากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

อีกทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางส่วนชะลอการผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนมกราคม 2567 ขยายตัว 10.30% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวในระยะนี้

ย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและจะฉุดรั้งให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ปัญหาด้านดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อที่อาจกดดันให้ห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงักส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ จำเป็นต้องจับตามองปัญหาภาระหนี้สินภายในประเทศที่มีระดับสูงทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ น้ำดื่ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.16 จากน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสผลไม้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นหลัก โดยความต้องการบริโภคขยายตัวหลังสภาพอากาศร้อนขึ้น รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า 

ปุ๋ยเคมี ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 58.68% เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับลดลงและสินค้าเกษตรราคาดี ส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังซื้อปุ๋ยมากขึ้น รวมถึงได้แหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยจากหลายประเทศทำให้มีวัถตุดิบสำหรับผลิตมากขึ้น


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.