เปิดความคืบหน้า FTA 6 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างเจรจา

11 มีนาคม 2567
เปิดความคืบหน้า FTA 6 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างเจรจา

เปิดความคืบหน้าผลการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA 6 ฉบับ เพื่อขยายการค้า การลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญเป้าหมายใหม่ในหลาย ๆ ภูมิภาค

"FTA" หรือ การเปิดเขตการค้าเสรี เป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดให้กับผู้ส่งออก และสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีการเสียภาษีนำเข้า 0% 

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  ระบุว่าปัจจุบันไทยได้เจรจาจัดทำ FTA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งสิ้น 15 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศ/ดินแดน ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี ฮ่องกงศรีลังกา และประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ

ขณะที่ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจามีจำนวน 11 ฉบับ โดยจะเป็นการยกระดับ FTA ที่มีอยู่แล้ว 5 ฉบับ เพื่อปรับปรุงความตกลงกับประเทศคู่ค้าเดิม และเป็นการพัฒนา FTA ใหม่ทั้งสิ้น 6 ฉบับ เพื่อขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญเป้าหมายใหม่ในหลาย ๆ ภูมิภาค

ความคืบหน้า FTA 6 ฉบับที่อยู่ระหว่างการเจรจา

1. FTA ไทย-ปากีสถาน ข้อมูลล่าสุดมีการรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ไทยและปากีสถานจัดการประชุมฯ รอบพิเศษผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าและกำหนดแผนการ เจรจาฯ ของคณะทำงาน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดแผนการเจรจาฯ (Work Plan) ของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้างต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดตลาดกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และพิธีการศุลกากรและ อีกทั้ง ปากีสถานอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอกำหนดการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยต่าง ๆ และให้ไทยพิจารณา เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้างต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าและหาข้อสรุปได้โดยเร็วที่สุด

สำหรับประเด็นที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา คือ ประเด็นการเปิดตลาดสินค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดแบบเฉพาะรายการสินค้าสำคัญ 200 รายการ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

2. FTA ไทย-ตุรกี ประเทศตุรกีได้ขอชะลอการเจรจา FTA กับไทยจนกว่าการเจรจา FTA ไทย – EU จะแล้วเสร็จ โดยตุรกีแจ้งว่า ตุรกีเป็นสหภาพศุลกากร กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งกำหนดให้ตุรกีสรุปผลการเจรจา FTA กับประเทศคู่เจรจาของ EU ภายหลังที่การเจรจา FTA ของ EU แล้วเสร็จ

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการเจรจา เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2558 เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ไทยในการขยายการค้า และการลงทุนไปยังตลาดใหม่ในตะวันออกกลาง และได้เริ่มเจรจาครั้งที่ 1 ในทันที เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 โดยเห็นพ้องที่จะเจรจาด้านการค้าสินค้าก่อน และจะเจรจาการค้าบริการและการลงทุนในภายหลังต่อไป 

โดยมีการจัดการประชุมแล้ว 7 รอบ โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจาการเปิดตลาดการค้าสินค้า (Market Access) พร้อมทั้งหารือประเด็น อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัยและ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และประเด็นด้านกฎหมาย

3. FTA อาเซียน-แคนาดา ข้อมูลล่าสุด FTA อาเซียน-แคนาดาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี เพื่อดูแลภาพรวมการเจรจาและจัดตั้งคณะทำงานเจรจาจำนวน 19 กลุ่ม เพื่อเป็นผู้เจรจาข้อตกลงในรายละเอียดซึ่ง FTA ฉบับนี้ได้เริ่มเจรจารอบแรก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568  

4. FTA ไทย-EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์) ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาฯ รอบแรก โดยแบ่งเป็นการเจรจาเป็น 2 ระดับ คือ การหารือระดับหัวหน้าคณะเจรจา และ การเจรจากลุ่มย่อย ซึ่งมีทั้งหมด 15 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 1-4 พ.ย. 2565 ฝ่าย EFTA เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจารอบที่ 2 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยการประชุมรอบถัดไปจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2567 โดยมีเป้าหมายให้สรุปผลการเจรจาภายในปี 2567

5. FTA ไทย-EU การประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-22 ก.ย. 66 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในภาพรวม การเจรจาเป็นไปด้วยดี ทั้งสองฝ่ายได้หารือ แลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลง และทำความเข้าใจข้อเสนอนโยบายและกฎระเบียบที่ เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย

พร้อมวางแผนการทำงานในรอบต่อไป การประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ณ กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงรายละเอียดของแต่ละประเด็น และแลกเปลี่ยนข้อเสนอเพิ่มเติมและสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น

ทั้งนี้ทุกกลุ่มได้กำหนดการทำงานในขั้นต่อไป อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นต่อร่างบทเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดประชุมหารือ ระหว่างรอบ เพื่อเป็นการเตรียมการให้การประชุมเจรจารอบที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ มีความคืบหน้ามากที่สุด การประชุมเจรจาทั้งสองฝ่ายย้ำเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาให้เสร็จภายใน 18 เดือน (ปี 2568) และกําหนดแผนงานที่จะจัดประชุม เจรจาฯ กันต่อไป 

โดยการเจรจารอบที่ 3 สหภาพยุโรปจะเป็นเจ้าภาพช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ และรอบที่ 4  ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ

6. FTA ไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าของไทยสู่ตลาดตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น ล่าสุดมีการประชุมเจรจาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยการหารือทั้งสองฝ่ายได้ขอเลื่อนการเปิดเสรีการค้าออกไปก่อน

เนื่องจากยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งทาง UEA มีต้นทุนด้านปิโตรเลียมที่ค่อนข้างต่ำ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต โดยฝ่ายไทยได้ขอให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลื่อนการเปิดเสรีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกไปก่อน ซึ่งต้องติดตามดูว่าทาง UAE จะมีข้อเสนออย่างไร


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.