ลงทุนก่อสร้าง 1.4 ล้านล้าน ติดกับดักงบฯรัฐปี’67 ยังไม่คลอด

21 มีนาคม 2567
ลงทุนก่อสร้าง 1.4 ล้านล้าน ติดกับดักงบฯรัฐปี’67 ยังไม่คลอด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม ปี 2567 จะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งขยายตัวที่ระดับ 4.1% อย่างไรก็ดี คาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมอาจกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จากการกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของภาครัฐ และการทยอยฟื้นตัวของกำลังซื้อ

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรระบุว่า ในปี 2566 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม อยู่ที่ 1.37 ล้านล้านบาท ปรับขึ้นเล็กน้อย 0.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลหลักจากการลงทุนก่อสร้างภาครัฐทั้งปีที่หดตัว -2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ซึ่งงบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้า ทำให้ไม่มีเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐ
ขณะที่มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งปีเพิ่มขึ้นที่ 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเชิงพาณิชย์ที่ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง

ลุ้นงบฯรัฐปลุกลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม ในปี 2567 จะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมูลค่าการลงทุนมีสัดส่วนประมาณ 8% ของ GDP แม้ว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมในปีนี้ จะฟื้นตัวได้ แต่ยังโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนโควิด-19 (2557-2561) ที่ 4.1% (CAGR)

มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐซึ่งมีสัดส่วน 57% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม คาดว่าจะเติบโตที่ 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามูลค่าการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีอาจยังหดตัว แต่มองว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากงบประมาณประจำปี 2567 ที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เต็มที่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

โดยโครงการก่อสร้างภาครัฐสำคัญที่มีแผนจะดำเนินการในปีนี้ เช่น รถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย ทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี เป็นต้น

ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วน 43% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม น่าจะเติบโตชะลอลงที่ 1.5% เทียบกับ 3.9% ในปีก่อน เป็นผลหลักจากปี 2566 ที่ผ่านมา มีการก่อสร้างโครงการเชิงพาณิชย์และพื้นที่ค้าปลีกที่มีเม็ดเงินลงทุนสูง เช่น โครงการมิกซ์ยูส ห้างสรรพสินค้า ซึ่งสอดคล้องไปกับข้อมูลของ CBRE ที่รายงานว่า อุปทานพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ ณ ไตรมาส 4 ของปี 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.9% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567

สต๊อกเหลือ 2 แสนยูนิต

ส่วนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย พบว่าผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ ตามการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีปริมาณอุปทานสะสมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 200,000 หน่วย มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ท่ามกลางความเข้มงวดในการให้สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยที่ผ่านมาพบปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อในอัตราที่สูง

นอกจากนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังมีความท้าทายจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-16 บาท ไปอยู่ที่ 330-370 บาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา และมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบภายในปีนี้ ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่พึ่งพิงการใช้แรงงานสูงน่าจะมีต้นทุนการจ้างงานสูงขึ้นด้วย
ต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างรวมเฉลี่ยในช่วงปี 2565-2566 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2563-2564 ประมาณ 10% สำหรับในปี 2567 แม้ว่าในดัชนีราคาสินค้าหลักอย่างเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจะย่อลงจากอุปสงค์ที่ยังชะลอตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.